ปลัดฯ ณัฐพล นำทีม MIND ล่องอีสานเหนือ เน้นย้ำ สอจ. ขานรับนโยบายอุตสาหกรรมเศรษฐกิจสร้างความเจริญในพื้นที่ พร้อมนำแนวทาง 4 มิติ เพิ่มความเข้มแข็งและยั่งยืนแก่โรงงานอุตสาหกรรม
จ.อุดรธานี 27 สิงหาคม 2566 - ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ลงพื้นที่ตรวจติดตามการดำเนินงานของสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี และสกลนคร พร้อมเยี่ยมชมหน่วยงานศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 4 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม สำนักงานอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่เขต 2 กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและกาคเหมืองแร่ โดยมี นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายวิษณุ ทับเที่ยง หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม นายเดชา จาตุธนานันท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม นางสาวณิรดา วิสุทธิชาติธาดา ผู้ช่วยปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นางสุชาดา โพธิ์เจริญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และคณะผู้บริหาร MIND ร่วมลงพื้นที่ โดยมีนายฐิติณัฏฐ์ มุณีรัตน์ อุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี นายกิติพงษ์ ชลิทธิกุล อุตสาหกรรมจังหวัดสกลนคร นำเสนอข้อมูล ณ ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 4 จังหวัดอุดรธานี และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี นายฐิติณัฏฐ์ มุณีรัตน์ อุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี รายงานว่า อุดรธานีมีโรงงานอุตสาหกรรม 699 โรงงาน มีประทานบัตรเหมืองแร่ 6 แปลง ได้แก่ แร่หิน หินทราย และเหมืองแร่โพแทช มี SME 46,014 ราย โดยบริษัท ไทยนำมันสำปะหลัง จำกัด เป็นตัวอย่างของโรงงานที่มีการนำระบบอัตโนมัติเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และระบบบำบัดน้ำเสีย Biogas นำไปผลิตกระแสไฟฟ้าใช้ในโรงงาน รวมทั้งยังเคยได้รับรางวัล CSR-DIW ต่อเนื่อง 8 ปี มีการนำของเสียจากกระบวนการผลิตให้เป็นก๊าซชีวภาพเพื่อใช้ทดแทนน้ำมันเตา และช่วยเหลือประชาชนโดยจัดโครงการ "กากมัน สู่เห็ดฟางชุมชน" สร้างอาชีพและรายได้ให้ชุมชนกว่า 60,000 บาท/เดือน นายกิติพงษ์ ชลิทธิกุล อุตสาหกรรมจังหวัดสกลนคร กล่าวว่า สกลนครมีโรงงาน 353 โรงงาน มี SME จำนวน 36,900 ราย ส่วนใหญ่ประกอบธุรกิจด้านอาหาร ผลิตภัณฑ์จากพืช ปัจจุบันมีโรงงานลงระบบ i-industry 98.78% และ iSingleForm 90.55% โดยมี บริษัท อีสานพัฒนาอุตสาหกรรม ปาล์ม จำกัด ประกอบกิจการหีบน้ำมันปาล์ม ที่ประสบความสำเร็จสามารถยกระดับมาตรฐานสู่สากล มีการสร้างเครือข่ายอุตสาหกรรมรักษ์สิ่งแวดล้อม เฝ้าระวังมลภาวะต่อชุมชน และสำรวจผลกระทบโดยรอบ รวมทั้งมีการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกและการคัดแยกขยะ นอกจากนี้ยังมีการจ้างแรงงานเป็นคนในพื้นที่มากกว่า 90% มีการส่งเสริมการเพาะเห็ดฟางจากทะลายปาล์ม และผลิตสบู่จากน้ำมันปาล์ม ด้านนายวัชระ ศรีคัฒนพรหม รองผู้อำนวยการ ผู้จัดการเขต 9 ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) รายงานผลการดำเนินงานตั้งแต่ 2563-2566 ผลการเบิกจ่าย รายงาน Productivity ภาพรวม Outstanding PL/NPL ทั้งนี้ SME ที่ขอสินเชื่อส่วนใหญ่ประกอบกิจการรับเหมาก่อสร้างอาคาร ที่พักอาศัย ธุรกิจค้าปลีก เป็นต้น ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า การพัฒนาภาคการเกษตรนอกจากการส่งเสริมการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์แล้ว ควรสร้างมูลค่าเพิ่มตั้งแต่เป็นวัตถุดิบ โดยทำให้สินค้าเป็นระดับพรีเมี่ยมเพื่อช่วยให้มีราคาสูงขึ้นตั้งแต่ต้นน้ำ รวมถึงการวิเคราะห์ข้อมูลดัชนีอุตสาหกรรม ควรวิเคราะห์ในระดับจังหวัดด้วย เพื่อให้สามารถนำข้อมูลมากำหนดแนวทางการพัฒนาธุรกิจในเชิงพื้นที่ได้อย่างเหมาะสม ส่วนด้านการติดตามโรงงานอุตสาหกรรม ให้กรอกข้อมูลการประกอบการใน iSingleform ควรมีการกำหนดเป็น KPI ระดับเจ้าหน้าที่ เพื่อกระตุ้นการทำงานและเป็นตัวเร่งในการขับเคลื่อนการทำงานอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ในด้านการแก้ไขการประท้วงซ้ำซาก กรณีเหมืองโพแทช ควรสร้างความเข้าใจไปยังประชาชนที่ได้รับผลกระทบ และมาตรการความช่วยเหลือต่างๆ เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมต่อไป ด้านรองปลัดฯ ณัฏฐิญา ขอให้ทำความเข้าใจในอุตสาหกรรมเศรษฐกิจ โดยกำหนดเป็นแผนภาพที่สะท้อนให้เห็นถึงการพัฒนาเศรษฐกิจในระดับจังหวัด เพื่อให้การพัฒนามีทิศทางที่ชัดเจน และสอดคล้องกับการยุทธศาสตร์ในพื้นที่ ส่วนด้านการส่งเสริมภาคเกษตรอุตสาหกรรม ขณะนี้ อก. ได้มีการหารือกับ CP All เพื่อให้การสนับสนุนการนำสินค้าชุมชน และ SME เข้าไปจำหน่ายในร้านสะดวกซื้อทั่วประเทศ รวมถึงได้เตรียมการสร้างนักธุรกิจเกษตรอัจฉริยะในระดับจังหวัด เพื่อให้มีความรอบรู้ในการประกอบธุรกิจอย่างมืออาชีพ สำหรับการค้างจ่ายค่าสาธารณูปโภคของหน่วยงาน ขอไม่ให้มีการแปลงงบข้ามหมวด เพื่อสะท้อนค่าใช้จ่ายที่แท้จริงไปยังสำนักงบประมาณต่อไป หน.ผตร.อก. กล่าวว่า พื้นที่จังหวัดอุดรธานี และหนองคาย มีนักท่องเที่ยวจาก สปป.ลาว เข้ามาซื้อสินค้าเป็นจำนวนมาก ดังนั้น ควรมีการประสานงานกับสภาอุตสาหกรรมจังหวัด และหอการค้าจังหวัด เพื่อวิเคราะห์กลุ่มลูกค้าที่เข้ามาจับจ่ายใช้สอยในพื้นที่ และวางกลยุทธ์ทางการตลาดที่เหมาะสมต่อไป ผตร.อก.เดชา ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า จังหวัดอุดรธานี ถือเป็นจังหวัดใหญ่และมีหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนที่แข็งแกร่ง หากมีการบูรณาการความร่วมมือกัน จะสามารถวางแนวทางการพัฒนาจังหวัดไปสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ มีสิ่งแวดล้อมที่ดีได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวถึงการรายงานการประกอบการใน iSingleForm ถือเป็นหน้าที่ที่โรงงานจะต้องรายงานข้อมูลรายเดือน ภายในทุกวันที่ 15 ของเดือนถัดไป ซึ่งในส่วนของข้อมูลการกักเก็บและจัดการสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วสำหรับผู้ก่อกำเนิดสิ่งปฏิกูล หากไม่รายงานภายใน 31 สิงหาคมนี้ จะมีโทษและถูกปรับ ### PR.DIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน
30 ส.ค 2023
ปลัดฯ ณัฐพล ระดมทีม MIND หารือแนวทางการแก้ไขปัญหาการลักลอบเผาอ้อย เพื่อลดปัญหา PM 2.5 พร้อมแนะการบริหารจัดการระบบขนส่งอ้อยสดเข้าหีบอย่างมีประสิทธิภาพ
จ.อุดรธานี 26 สิงหาคม 2566 - ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นำคณะผู้บริหาร MIND ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ภาคที่ 4 (ศอภ.4) สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) โดยมีนายสมหวัง ก้อนกงไกว ผู้อำนวยการ ศอภ.4 รายงานภาพรวมโครงสร้าง อัตรากำลัง บทบาทภารกิจส่วนภูมิภาคโดยประสานกับหน่วยงานส่วนกลางในการกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ แผนงาน งบประมาณการพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย อุตสาหกรรมต่อเนื่อง และอุตสาหกรรมชีวภาพ เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติในภูมิภาค รวมทั้งศึกษา วิจัย และส่งเสริมให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยใช้ปุ๋ยในอัตราที่เหมาะสม นอกจากนี้ยังให้บริการตรวจคุณภาพดิน ตลอดจนเป็นห้องปฏิบัติการวิเคราะห์คุณภาพอ้อยและน้ำตาลทรายในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นอกจากนี้ยังดำเนินการเพิ่มผลิตภาพการผลิตอ้อย การส่งเสริมอ้อยพันธุ์ดี การวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ด้านการผลิตและเทคโนโลยี การบริหารจัดการและควบคุมคุณภาพน้ำตาลทรายตามมาตรฐานสากล การวิเคราะห์คุณภาพน้ำตาลทรายและกากน้ำตาล เพื่อรักษามาตรฐานและควบคุมคุณภาพน้ำตาลทราย ตามมาตรฐานสากล ISO/IEC 17025 : 2017 รวมทั้งยังมีมาตรการในการลดการลักลอบเผาอ้อยนำเข้าหีบ โดยดำเนินโครงการให้ยืมเครื่องสางใบอ้อย เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรชาวไร่อ้อย โดยฤดูการผลิตปี 2565/2566 มีปริมาณอ้อยเข้าหีบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือรวม 44,514,786.630 ตัน เป็นอ้อยลักลอบเผา 15,941,215.170 ตัน คิดเป็น ร้อยละ 35.81 ส่วนแผนงานความร่วมมือกับโรงงานน้ำตาลในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ดำเนินการ มีโรงงานน้ำตาลขอนแก่น โรงงานน้ำตาลเกษตรผล โรงงานน้ำตาลทรายขาวเริ่มอุดม โรงงานน้ำตาลไทยอุดรธานี ดำเนินการพื้นที่ต้นแบบการทำไร่อ้อยแบบแปลงใหญ่ ส่งเสริมการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรในการบริหารจัดการแปลงอ้อย การบริหารจัดการดิน น้ำ ปุ๋ย โรคและแมลงศัตรูอ้อย การจัดทำแปลงพันธุ์อ้อยสะอาด และกระจายพันธุ์อ้อยไปให้เกษตรกรปลูก ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า จากกรณีปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่เกิดขึ้นในประเทศช่วงที่ผ่านมา สังเกตได้ว่าเป็นช่วงฤดูเปิดหีบอ้อย ซึ่งที่ผ่านมามีการลักลอบเผาอ้อยอย่างต่อเนื่องนานหลายเดือน รัฐบาลจึงมีนโยบายและมาตรการต่างๆ เพื่อลดปริมาณการลักลอบเผาอ้อยให้ได้เป็นศูนย์ อย่างไรก็ตามในปีที่ผ่านมาพบว่าปริมาณการเผาอ้อยกลับยิ่งสูงขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา ดังนั้น หากต้องการให้อุตสาหกรรมอ้อยเกิดความยั่งยืนและเป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศ จึงต้องช่วยกันหยุดการเผาอ้อยให้ได้โดยเร็ว อย่างไรก็ดี กระทรวงฯ ได้มีนโยบายทั้งในด้านการให้รางวัลแก่คนทำดี มาตรการด้านสินเชื่อ การให้โรงงานมีแผนการตัดและรับซื้ออ้อย ซึ่งเตรียมนำไปสู่การขยายผลต่อไป ทั้งนี้ ในที่ประชุมยังได้แนะนำให้ประสานงานกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมเพื่อนำเครื่องสางใบอ้อยมาให้เกษตรกรได้นำไปใช้ในการตัดอ้อยสด การส่งเสริมระบบโลจิสติกส์โดยจัดคิวการตัดอ้อยและการขนส่งอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อลดต้นทุน นอกจากนี้ ยังให้ข้อแนะนำ ศอภ. 4 ในการปรับภูมิทัศน์สำนักงานให้สวยงามเพื่อให้เหมาะแก่การให้บริการแก่เกษตรกรและผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป โดยมี นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายวิษณุ ทับเที่ยง หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม นายเดชา จาตุธนานันท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม นางสาวณิรดา วิสุทธิชาติธาดา ผู้ช่วยปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นางสุชาดา โพธิ์เจริญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ผู้บริหารจากส่วนกลางและส่วนภูมิภาค และเจ้าหน้าที่ทีม MIND ร่วมลงพื้นที่ และมีนายสมหวัง ก้อนกงไกว ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ภาคที่ 4 ให้การต้อนรับ ในเวลาต่อมา ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมคณะ ได้ตรวจเยี่ยมธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย สาขาอุดรธานี เพื่อให้กำลังใจแก่เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงาน โดยมีเจ้าหน้าที่ ธพว.อุดรธานี ให้การต้อนรับ ## PR.DIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน
29 ส.ค 2023
"ดีพร้อม" โชว์ผลงานปั้นนักธุรกิจเกษตรสุดปัง สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 1,500 ล้านบาท
กรุงเทพฯ 28 สิงหาคม 2566 – นายวัชรุน จุ้ยจำลอง รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีปิดกิจกรรมการพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรมต้นแบบอัจฉริยะ (Genius the legend) พร้อมด้วย คณะผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ดีพร้อม (DIPROM) กลุ่มผู้ประกอบการ และสื่อมวลชน เข้าร่วม ณ ห้อง Grand Hall 1 อาคาร TRUE Digital Park West กิจกรรมดังกล่าว เป็นการพัฒนาเสริมสร้างความแข็งแกร่งและยกระดับศักยภาพของผู้ประกอบการเกษตรอุตสาหกรรมให้เป็นผู้ประกอบการยุคใหม่ผ่านหลักสูตร Genius the legend มุ่งส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี นวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจ รวมทั้งการสร้างมาตรฐานการผลิตและแปรรูปสินค้าทางการเกษตร ตลอดจนการสร้างและเชื่อมโยงเครือข่ายของผู้ประกอบการให้เกิดความเข้มแข็ง พร้อมทั้งสร้างโอกาสเข้าถึงตลาดเป้าหมายที่มีศักยภาพและแหล่งเงินทุน ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถแข่งขันในระดับเวทีการค้าโลกได้อย่างยั่งยืน โดยต้นแบบอัจฉริยะที่ประสบความสำเร็จ (Best of The Best) จำนวน 5 กิจการ ได้แก่ บริษัท เพนนิน เพนนี พาทิชเชอรี่ จำกัด บริษัท บังฟารุก ฮาลาล จำกัด บริษัท มันดี จำกัด บริษัท โคโค่นัทการ์เด้น คอสเมติกส์ จำกัด และบริษัท 24 ชั่วโมง คอฟฟี่ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด หลักสูตรดังกล่าว ได้ดำเนินการต่อเนื่องเป็นปีที่ 7 โดยสามารถยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการไทยกว่า 600 กิจการ พัฒนาต่อยอดสินค้าและบริการได้มากกว่า 300 รายการ และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจรวมกว่า 1,500 ล้านบาท ### PR.DIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
29 ส.ค 2023
“รสอ.วาที” เปิดงานอุตสาหกรรมแฟร์ “MID YEAR SALE 2023” ยกขบวน ผปก. กว่า 80 ร้านค้า ร่วมงานฯ คาดเงินสะพัดกว่า 3 ลบ.
กรุงเทพฯ 28 สิงหาคม 2566 - นายนายวาที พีระวรานุพงศ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงานอุตสาหกรรมแฟร์ “MID YEAR SALE 2023” ร่วมด้วย คณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ดีพร้อม (DIPROM) ผู้ประกอบการ และสื่อมวลชน เข้าร่วมงานดังกล่าว โดยมี นายวุฒิชัย ประชาพร ผู้อำนวยการกองพัฒนาขีดความสามารถธุรกิจอุตสาหกรรม กล่าวรายงาน ณ บริเวณลานจอดรถ ชั้น 1 อาคารกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (DIPROM Headquarter) งานดังกล่าว จัดขึ้นระหว่างวันที่ 28 - 30 สิงหาคม 2566 ณ บริเวณลานจอดรถและห้องนิทรรศการ ชั้น 1 อาคารกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ถนนพระรามที่ 6 ราชเทวี เพื่อให้ผู้ประกอบการที่ได้รับการส่งเสริม พัฒนา และสนับสนุนจากดีพร้อม สามารถนำเสนอแบรนด์สินค้าและผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่รู้จัก รวมถึงจัดแสดงและจำหน่ายสินค้าเพื่อทดสอบตลาดและศึกษาพฤติกรรมความต้องการของผู้บริโภคในปัจจุบัน ซึ่งจะสามารถหาแนวทางการพัฒนสผลิตภัณฑ์ให้แตกต่างและนำไปสู่การพัฒนาสินค้าให้ตอบสนองกับความต้องการของลูกค้าได้เป็นอย่างดี โดยภายในงานพบกับสินค้าจากผู้ประกอบการกว่า 80 บูธ อาทิ เสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย เครื่องสำอาง กระเป๋า รองเท้า อัญมณีและเครื่องประดับ ของใช้และของตกแต่งบ้าน อาหาร และสินค้าเกษตรแปรรูป ราคาพิเศษเอาใจสายนักช้อป ลดสูงสุดกว่า 30 - 60% ตลอดจนการจำหน่ายสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ผ่านมาตรฐาน มอก. ในราคาพิเศษสุดเพื่อเป็นการช่วยลดค่าใช้จ่ายของผู้บริโภคอีกด้วย ทั้งนี้ คาดว่าผู้ประกอบการที่เข้าร่วมงานในครั้งนี้ จะสามารถกำหนดและวางกลยุทธ์การตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดเงินสะพัดหมุนเวียนภายในงานไม่น้อยกว่า 3 ล้านบาท ### PR.DIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน /ภาพข่าว
29 ส.ค 2023
ปลัดฯ ณัฐพล ลงพื้นที่อุดรฯ รุดตรวจเหมืองแร่โพแทช ตามแนวอุตสาหกรรมวิถีใหม่ "เหมืองแร่ดี คู่ชุมชน" สู่การประกอบกิจการที่ยั่งยืน
จ.อุดรธานี 26 สิงหาคม 2566 - ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นำคณะผู้บริหาร MIND ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและติดตามผลการดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการกำกับ ดูแล และส่งเสริมการประกอบการเหมืองแร่ ตามแนวอุตสาหกรรมวิถีใหม่ "เหมืองแร่ดี คู่ชุมชน" ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 โดยมี นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายวิษณุ ทับเที่ยง หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม นายเดชา จาตุธนานันท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม นางสาวณิรดา วิสุทธิชาติธาดา ผู้ช่วยปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นางสุชาดา โพธิ์เจริญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ผู้บริหารจากส่วนกลางและส่วนภูมิภาค และเจ้าหน้าที่ทีม MIND ร่วมลงพื้นที่ และมีนายวรวุฒิ หรัญยไพศาลสกุล ผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอเซียแปซิฟิก โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด และเจ้าหน้าที่บริษัทฯ ให้การต้อนรับ ณ ศูนย์ประชาสัมพันธ์ บริษัท เอเซียแปซิฟิก โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด อำเภอเมืองอุดรธานี นายวรวุฒิ หรัญยไพศาลสกุล ผู้จัดการใหญ่บริษัทฯ กล่าวว่า เหมืองแร่โพแทชจังหวัดอุดรธานี เริ่มต้นพัฒนาจากที่รัฐบาลได้ประกาศเชิญชวนใน พ.ศ. 2523 หลังจากนั้นได้ทำสัญญาให้สิทธิสำรวจและผลิตแร่โพแทช ระหว่างบริษัท ไทยอะกริโก โปแตช จำกัด กับกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) มีที่ตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองจังหวัดอุดรธานีประมาณ 15 - 20 กิโลเมตร ครอบคลุม 5 ตำบล คือ ตำบลหนองขอนกว้าง ตำบลโนนสูง ตำบลหนองไผ่ อำเภอเมืองอุดรธานี ตำบลนาม่วง และตำบลห้วยสามพาด อำเภอประจักษ์ศิลปาคม มีเนื้อที่รวมทั้งหมดประมาณ 26,446 ไร่ 1 งาน 49 ตารางวา พื้นที่ทำเหมืองประกอบด้วย เหมืองใต้ดินที่มีระดับความลึกประมาณ 350 เมตร และโรงแต่งแร่ซึ่งมีเนื้อที่ประมาณ 1,250 ไร่ โดยมีปริมาณแร่สำรองที่ทำเหมืองได้ของโครงการตลอดระยะเวลา 25 ปี เท่ากับ 85.821 ล้านเมตริกตัน สำหรับการขนส่งแร่โพแทชสามารถดำเนินการได้ทั้งทางรถบรรทุกและทางรถไฟ วิธีการทำเหมืองใช้วิธีที่เรียก "ช่องทางสลับเสาค้ำยัน" (Room and Pillar) โดยขุดแร่เป็นช่อง (Room) และเว้นบางส่วนไว้เป็นเสาค้ำยัน (Pillar) การทำเหมืองใต้ดินด้วยวิธีนี้เป็นเทคโนโลยีที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก ว่ามีความปลอดภัยสูงสุด และมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมบนผิวดินน้อยที่สุด ส่วนการแต่งแร่นั้น ใช้กรรมวิธีลอยแร่และตกผลึกแร่ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ใช้กันแพร่หลาย โดยผู้ผลิตรายใหญ่ อาทิในประเทศแคนาดา เบรารุส รัสเซีย และเยอรมนี ทำให้ผลผลิตที่ได้จะมีความสมบูรณ์ของแร่โพแทสเซียมเพิ่มเป็น 60% (K2O) ซึ่งได้มาตรฐานในอุตสาหกรรมปุ๋ย โครงการได้มีการออกแบบเพื่อป้องกันผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างดีตามมาตรฐานสากลและได้รับความเห็นชอบรายงาน EIA ในปี พ.ศ. 2557 รวมทั้งมีการนำแนวทางการดำเนินการตามนโยบาย MIND คือ ยกระดับทุกองค์ประกอบของภาคอุตสาหกรรม ควบคู่กับการสร้างความเข้มแข็งและกระจายรายได้สู่ชุมชน ด้วย "หัว" และ "ใจ" ในหลักการของ "อุตสาหกรรมดี ชุมชนดี หน่วยงานดี" เพื่อมุ่งสู่ความสำเร็จ 4 มิติ ได้แก่ มิติที่ 1 ความสำเร็จทางธุรกิจ ด้วยประสบการณ์จริงของทีมผู้ประกอบการ เพื่อความสำเร็จอย่างยั่งยืนของเหมืองโพแทชจังหวัดอุดรธานี มิติที่ 2 การดูแลสังคมและชุมชน โดยคัดเลือกตัวแทนผู้มีส่วนได้เสีย การกำหนดตัวผู้มีสิทธิตรวจสอบ ตามมาตรา 88 แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2562 การจัดตั้งคณะกรรมการชุมชนสัมพันธ์ จัดกิจกรรมเพื่อสังคมต่าง ๆ มากมาย มิติที่ 3 การรักษาสิ่งแวดล้อม อุตสาหกรรมผลิตแร่โพแทชใช้วิธีการทำเหมืองแบบ Room and Pillar ซึ่งมีความปลอดภัยสูงและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่ำ บริเวณพื้นที่โดยรอบจะสร้างคันดินปลูกต้นไม้เพื่อใช้เป็น Buffer Zone มิติที่ 4 การกระจายรายได้สู่ชุมชน ก่อให้เกิดการจ้างงานทางตรงกว่า 1,100 อัตรา การจ้างงานทางอ้อม กว่า 4,500 อัตรา รวมทั้งมีการมอบทุนการศึกษาระดับสายอาชีพ ปวช.- ปวส. รุ่นที่ 1-11 จำนวน 536 ทุน และการจับคู่ธุรกิจผู้ประกอบการ/วิสาหกิจชุมชน ส่งเสริมให้เกิดเครือข่ายการผลิตที่มีศักยภาพ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวขอบคุณทางบริษัท เอเซียแปซิฟิก โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด ให้การต้อนรับและกล่าวชื่นชมในการนำนโยบาย MIND ของ อก. ให้สอดคล้องกับ 4 มิติ มาพัฒนาในการประกอบกิจการเหมืองแร่สู่ความยั่งยืน โดยให้ความสำคัญต่อประชาชนโดยรอบเหมือง พร้อมเสนอแนะให้ทางบริษัทฯ ประชาสัมพันธ์ให้ภาคประชาชนเกิดความเชื่อมั่น เข้าใจและเข้าถึงต่อการประกอบกิจการเหมืองแร่โพแทช ประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากดำเนินโครงการต่อประเทศ จังหวัดอุดรธานี และชุมชนโดยรอบ รองปลัดฯ ณัฏฐิญา ได้สอบถามถึงการดำเนินโครงการเหมืองแร่โพแทช การขนส่ง อุทกภัย การเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ โดยทางบริษัทฯ ได้ให้ข้อมูลว่า พื้นที่เหมืองอาจมีการพัฒนาไปสูการเป็นแหล่งเรียนรู้ พิพิธภัณฑ์เหมืองแร่ในอนาคต แต่ต้องมีการบริหารจัดการที่ดี และมีการดูแลด้านความปลอดภัยเป็นสำคัญ ส่วนการขนส่งกำลังมีรถไฟรางคู่สามารถส่งแร่จากโรงแต่งแร่ขนไปยังมาบตาพุด ส่วนเรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์สามารถเพิ่มมูลค่าให้กับอุตสาหกรรมเกษตร ไปสู่การเป็นเกษตรอินทรีย์ได้ รวมถึงการพัฒนาเป็นปุ๋ยอัดเม็ดต่อไป ## PR.DIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน
29 ส.ค 2023
“รสอ.วัชรุน” ยกระดับอุตสาหกรรมสู่ระบบอัตโนมัติ
จ.เพชรบูรณ์ 27 สิงหาคม 2566 - นายวัชรุน จุ้ยจำลอง รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม พร้อมด้วย คณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ดีพร้อม (DIPROM) ลงพื้นที่เยี่ยมชมกระบวนการผลิตและบริหารจัดการของ บริษัท บุญเกียรติ ไอศกรีม จำกัด โดยมี นายสมเกียรติ กิตติธรสมบัติ กรรมการผู้จัดการ ให้การต้อนรับ ณ บริษัท บุญเกียรติ ไอศกรีม จำกัด อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ บริษัทดังกล่าว เป็นผู้ผลิตไอศกรีมผลไม้แท้ เช่น รสมะม่วง รสทุเรียน รสเสาวรส รสรวมมิตร ที่ได้รับการรับรอง มาตรฐาน ISO 22000:2018 ระบบการจัดการความปลอดภัยของอาหาร สำหรับการผลิตอาหาร รวมถึงการผลิตที่ต้องการควบคุมด้านสุขลักษณะที่ดีในการผลิต และการควบคุมด้านความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างความมั่นใจสูงสุดแก่ลูกค้าและผู้บริโภค ดีพร้อม ได้ช่วยยกระดับกระบวนการผลิตโดยการนำระบบอัตโนมัติเข้ามาทดแทนการทำงานของพนักงาน โดยเริ่มจากการนำระบบ Karakuri Kaizen เข้ามาใช้งานในการผลิต ช่วยลดการใช้พลังงาน ทำให้ลดต้นทุนในการผลิต ในขณะเดียวกันยังสามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานได้ ซึ่งเป็นอุปกรณ์อัตโนมัติที่มีต้นทุนต่ำ และมีกลไกการทำงานแบบง่าย ตามหลักกลศาสตร์ เช่น แรงโน้มถ่วง นอกจากจะสามารถนำมาช่วยพนักงานในการทำงานแล้วยังช่วยลดความซับซ้อนในกระบวนการอีกด้วย ทั้งนี้ รสอ.วัชรุนฯ ได้เชิญผู้ประกอบการ เข้าร่วมงานเสวนาด้านมะม่วงทั้ง Supply Chain ตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ที่จะจัดขึ้นในเดือนกันยายนนี้ ณ จังหวัดสุโขทัย ซึ่งได้เชิญเครือข่ายผู้ประกอบการจังหวัดพิษณุโลก เพชรบูรณ์ และพื้นที่ใกล้เคียงที่มีผลผลิตมะม่วงเข้าร่วม เพื่อวิเคราะห์ปัญหาที่ผ่านมาของมะม่วง พร้อมกำหนดมุมมองในอนาคต และยกระดับมูลค่าจากมะม่วงให้สูงขึ้น ### PR.DIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน
28 ส.ค 2023
“รสอ.วัชรุน” มอบวุฒิบัตรและแสดงความยินดีกับ NEC จังหวัดเพชรบูรณ์
จ.เพชรบูรณ์ 26 สิงหาคม 2566 – นายวัชรุน จุ้ยจำลอง รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานมอบวุฒิบัตรและกล่าวแสดงความยินดีในพิธีมอบวุฒิบัตร NEC จังหวัดเพชรบูรณ์ และเชื่อมโยงเครือข่าย คพอ. จังหวัดเพชรบูรณ์ ร่วมด้วย คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ดีพร้อม (DIPROM) ผู้แทนจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และสมาชิก NEC ดีพร้อม ผู้สำเร็จการฝึกอบรม โดยมี นายวิทยา พัชรพานิช และ นายอภิคุณ ทองใจสด ประธาน คพอ. จังหวัดเพชรบูรณ์ กล่าวต้อนรับ ณ โรงแรมเอสอาร์ เรสซิเดนท์ อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ กิจกรรมดังกล่าว เป็นการอบรมสร้างจิตวิญญาณในการเป็นผู้ประกอบการ หรือ NEC พร้อมได้มอบวุฒิบัตร NEC จังหวัดเพชรบูรณ์ และเชื่อมโยงเครือข่าย คพอ. จังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวเป็นการร่วมมือระหว่าง ดีพร้อม และ เครือข่ายผู้ประกอบการ คพอ. จังหวัดเพชรบูรณ์ ที่ได้เล็งเห็นความสำคัญของการสร้างเครือข่ายในการทำธุรกิจร่วมกัน เป็นเพื่อนคู่คิด ให้คำแนะนำ เปิดโลกทัศน์ในการประกอบธุรกิจ สร้างความสัมพันธ์ให้สอดคล้องกับการพัฒนา SMEs ในจังหวัดเพชรบูรณ์ ให้มีศักยภาพ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันต่อสู้กับสภาวะทางเศรษฐกิจ เพื่อให้ธุรกิจมั่นคง อยู่รอด และต่อยอดธุรกิจซึ่งกัน ### PR.DIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/
28 ส.ค 2023
ดีพร้อม ขับเคลื่อนวิสาหกิจชุมชนฯ ผู้เลี้ยงชันโรงบ้านทับมา
จ.ระยอง 27 สิงหาคม 2566 - นายใบน้อย สุวรรณชาตรี อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม พร้อมด้วย นายวรวิทย์ จิรัฐิติเจริญ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมผู้ประกอบการและธุรกิจใหม่ นางสาวหนึ่งหทัย ธรรมพิทักษ์ ผู้อำนวยการศูนย์ดีพร้อมเซ็นเตอร์ 9 นายวิเชียร ทองด้วง อุตสาหกรรมจังหวัดระยอง นางสาวอังศุมาลิน ฉัตรสุวรรณวารี อุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรี นางสาวกาญจนา ทัพป้อม อุตสาหกรรมจังหวัดจันทบุรี เจ้าหน้าที่ดีพร้อม (DIPROM) นายสุนทร ประสพชิงชนะ รองกรรมการผู้จัดการบริษัท ไทย เอ็มเอ็มเอ จำกัด ในเครือ SCGC ผู้บริหาร และคณะสื่อมวลชน ลงพื้นที่เยี่ยมชมผลการดำเนินงานด้านชันโรง โดยมี นางประไพ คชรินทร์ ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มส่งเสริมอาชีพผู้เลี้ยงชันโรงบ้านทับมา ให้การต้อนรับ ณ วิสาหกิจชุมชนส่งเสริมอาชีพผู้เลี้ยงชันโรงบ้านทับมา อำเภอทับมา วิสาหกิจชุมชนส่งเสริมอาชีพผู้เลี้ยงชันโรงบ้านทับมา มีการรวมกลุ่มจัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2563 ปัจจุบันมีสมาชิก 46 คน มีรังชันโรงรวมทั้งสิ้น 300 รัง โดยเป็นชันโรงสายพันธุ์ขนเงิน นอกจากการเก็บเกี่ยวน้ำผึ้งเพื่อืจำหน่ายแล้ว ยังได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากสารสกัดพรอพอลิส (Propolis) และเกสรผึ้งชันโรง อาทิ สบู่ ยาหม่อง น้ำมันหอมระเหย ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว เป็นต้น โดยมีจุดเด่นอยู่ที่ผลิตภัณฑ์ของทางกลุ่มจะอุดมไปด้วย แมงโกสทีน ฟลาโวนอยด์ (Mangosteen Flavonoid) เป็นสารช่วยต้านอนุมูลอิสระ ที่ได้จากเกสรของดอกมังคุด ซึ่งมีเฉพาะในพื้นที่เท่านั้น นอกจากนี้ ทางกลุ่มฯ ยังได้จำหน่ายและรับซื้อคืนรังเลี้ยงชันโรงจากสมาชิกซึ่งเป็นการกระจายรายได้ให้กับสมาชิกในกลุ่มต่อไป ทั้งนี้ ดีพร้อม ได้เดินหน้าบูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ-เอกชน ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นเครือข่าย Social Enterprise ร่วมทำงานเพื่อชุมชนมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 7 ปี โดยในปีนี้มุ่งเป้าส่งเสริมธุรกิจให้ โตอย่างยั่งยืน (Sustainable) ด้วยการเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรฟาร์มผึ้ง ผ่านการส่งเสริมการเลี้ยงผึ้งชันโรงที่มีคุณสมบัติพิเศษและราคาสูงกว่าน้ำผึ้งทั่วไป เพื่อให้เกษตรกรได้ผลผลิตที่สามารถสร้างรายได้ตลอดทั้งปี โดยนำงานวิจัยมาใช้ประโยชน์จาก ขยายผลไปสู่การผลิตสินค้าที่มีความหลากหลาย และนำแนวทาง ESG (Environment Social Governance) มาปรับใช้ในระดับวิสาหกิจชุมชน คือ ส่งเสริมให้เกิดรายได้ สร้างเครือข่ายความร่วมมือ ภายใต้สิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน พร้อมต่อยอดสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนเพื่อตอบโจทย์ BCG Model### PR.DIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
28 ส.ค 2023
รสอ.สุชาดา" ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานศูนย์ดีพร้อมเซ็นเตอร์ 4
จ.อุดรธานี 27 สิงหาคม 2566 – นางสุชาดา โพธิ์เจริญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมศูนย์ดีพร้อมเซ็นเตอร์ 4 (DIPROM CENTER 4) พร้อมด้วย คณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ดีพร้อม (DIPROM) โดยมี นายติณห์ เจริญใจ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 4 (DIPROM CENTER 4) ให้การต้อนรับ ณ ศูนย์ดีพร้อมเซ็นเตอร์ 4 ตำบลโนนสูง อำเภอเมืองอุดรธานี การลงพื้นที่ในครั้งนี้ เป็นการติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานและการเบิกใช้จ่ายจ่ายงบประมาณ รวมถึงการปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณโดยรอบศูนย์ดีพร้อมเซ็นเตอร์ 4 พร้อมทั้ง ยังได้ติดตามการปรับปรุงซ่อมแซมอาคารหอพักชายที่ชำรุดให้สามารถกลับมาใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมต่อไป ### PR.DIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
28 ส.ค 2023
ปลัดฯ ณัฐพล กระตุ้นบุคลากรทีม MIND โซนอีสาน ใช้ “หัว และ ใจ” แก้ไขข้อร้องเรียนโรงงาน ย้ำไม่รายงาน iSingle Form เจอตรวจสุดซอย
จ.อุดรธานี 26 สิงหาคม 2566 - ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การส่งเสริมการประกอบการตามนโยบาย MIND เพื่อแก้ไขปัญหาข้อร้องเรียนอย่างยั่งยืน ครั้งที่ 6 โดยมี นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายวิษณุ ทับเที่ยง หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม นายเดชา จาตุธนานันท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม นางสาวณิรดา วิสุทธิชาติธาดา ผู้ช่วยปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นางสุชาดา โพธิ์เจริญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม และเจ้าหน้าที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด เข้าร่วมการสัมมนากว่า 70 คน ณ โรงแรมเวลาดี จังหวัดอุดรธานี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมมุ่งมั่นให้ภาคอุตสาหกรรมของไทยมีการเติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน ตามบริบทของประชาคมโลกที่มีการกำหนดกฎเกณฑ์ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคม อย่างไรตามจากข้อมูลรายงานดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม จะเห็นว่าตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา ภาคอุตสาหกรรมมีอัตราการเติบโตที่ทรงตัวมาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น หากต้องการให้ภาคอุตสาหกรรมเติบโตขึ้น จำเป็นต้องนำนโยบาย MIND ใช้ “หัว และ ใจ” เข้ามาใช้เป็นแนวทางในการทำงานของคนในกระทรวงอุตสาหกรรม ผนวกกับแนวนโยบาย 4 มิติ ทั้งในด้านความสำเร็จของธุรกิจ การดูแลสังคมและชุมชนโดยรอบ การรักษาสิ่งแวดล้อม และการกระจายรายได้สู่ประชาชน เพื่อขับเคลื่อนให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างสมดุล โดยเฉพาะในมิติด้านการดูแลสิ่งแวดล้อม ที่ประเทศไทยยังถูกจัดอันดับในลำดับท้าย ๆ ของโลก หากมีการดำเนินการตามมาตรการที่กำหนดจากประชาคมโลกอย่างเคร่งครัด เชื่อว่าจะทำให้บรรยากาศการลงทุนในประเทศดีขึ้น และส่งผลต่อการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมในประเทศ ส่วนในด้านการแก้ปัญหาเรื่องร้องเรียนนั้น เกี่ยวข้องกับชุมชน สังคม โรงงาน และสิ่งแวดล้อม ซึ่งการแก้ไขข้อร้องเรียนต่าง ๆ โรงงานอุตสาหกรรมและเจ้าหน้าที่ต้องร่วมกันดูแลชุมชนในพื้นที่รอบโรงงานให้ได้รับการปฏิบัติที่ดี การสร้างการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน เพื่อทำให้ชุมชนโดยรอบอยู่ร่วมกับโรงงานได้อย่างมีความสุข ส่งผลให้เกิดความยั่งยืนให้กับธุรกิจต่อไป นอกจากนี้ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ยังได้เน้นย้ำให้โรงงานอุตสาหกรรมรายงานข้อมูลการประกอบการในระบบรายงานข้อมูลกลางของกระทรวงอุตสาหกรรม (iSingle Form) โดยมีเป้าหมายให้ทุกโรงงานเข้ามาอยู่ในระบบ Digital Government เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการกำกับ ดูแล และอำนวยความสะดวกได้อย่างรวดเร็วครอบคลุมโรงงานที่มีอยู่จำนวนมากได้ อีกทั้งยังสามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์ ใช้ประโยชน์ และสร้างความสะดวกในการขอใบอนุญาต และการทำธุรกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องได้มากขึ้น ทั้งนี้ ปัจจุบันยังมีโรงงานที่ยังไม่ได้รายงานข้อมูลอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งในเดือนสิงหาคมนี้ จะครบกำหนดการรายงานข้อมูลการประกอบการอุตสาหกรรมแล้ว หากยังไม่มีการรายงานจะถือว่าเป็นความผิดและมีโทษปรับ ดังนั้น จึงมอบหมายให้ สอจ.ทุกจังหวัด ดำเนินการลงพื้นที่ตรวจโรงงานแบบสุดซอยในทุกมิติของการรายงานตามข้อกำหนดของกฎหมาย โดยหากพบโรงงานที่ผิดกฎหมายตามข้อกำหนดของการประกอบการอุตสาหกรรมขอให้ดำเนินการตามระเบียบอย่างจริงจัง รวมทั้งหากพบโรงงานที่มีการหยุดการดำเนินการมาเป็นเวลานาน ขอให้พิจารณาทบทวนการยกเลิกการประกอบกิจการโรงงาน เพื่อให้ระบบฐานข้อมูลโรงงานมีความถูกต้องและเป็นปัจจุบันต่อไป ### PR.DIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน
28 ส.ค 2023