“อสอ.ภาสกร” เดินหน้านำทัพผู้ประกอบการไทย จับคู่ธุรกิจ - สร้างเครือข่ายการค้า CLMV
จ.นนทบุรี 30 พฤษภาคม 2567 – นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานเปิดกิจกรรม Dinner Talk ภายใต้กิจกรรมการเชื่อมโยงเครือข่ายผู้ประกอบการไทย - กลุ่มประเทศ CLMV พร้อมด้วย รองประธานหอการค้ากัมพูชา ผู้แทนหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งชาติลาว ประธานสภาธุรกิจไทย-กัมพูชา ประธานสภาธุรกิจไทย-ลาว ผู้ประกอบการจากทั้งสองประเทศเพื่อนบ้าน ผู้แทนจากสหพันธ์สมาคมผู้ประกอบการไทย (FA SME) ผู้แทน DIPROM SMEs Network ผู้แทน NEC Network คณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ดีพร้อม (DIPROM) ณ ห้องแซฟไฟร์ ชั้น 3 โรงแรมแกรนด์ ริชมอนด์ กิจกรรมในวันนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อสานสัมพันธ์เครือข่ายผู้ประกอบการไทย กัมพูชา และลาว ที่ได้ทำความรู้จักและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ธุรกิจซึ่งกันและกัน เพื่อสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายจากความสัมพันธ์แบบเพื่อน และพัฒนาต่อยอดไปสู่การสร้างโอกาสทางการค้าและการช่วยเหลือทางธุรกิจระหว่างกัน และร่วมกันวางแผนกิจกรรมของเครือข่าย เพื่อให้สมาชิกมีแนวทางในการดำเนินกิจกรรมร่วมกันอย่างต่อเนื่อง อันจะนำไปสู่ความยั่งยืนของเครือข่ายผู้ประกอบการไทย - ลาว - กัมพูชา ต่อไปในอนาคต โดยในวันนี้มีสมาชิกของเครือข่ายผู้ประกอบการไทยที่ได้รับการส่งเสริมและพัฒนาจากดีพร้อม 3 เครือข่าย ประกอบด้วย DIPROM SMEs Network, สหพันธ์สมาคมผู้ประกอบการไทย และ NEC Network โดยมีหอการค้ากัมพูชา หอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งชาติลาว สภาธุรกิจไทย - กัมพูชา และสภาธุรกิจไทย - ลาว ได้ร่วมดำเนินการไปด้วยกัน หลังจากจบกิจกรรม Dinner Talk ในครั้งนี้ เครือข่ายผู้ประกอบการไทย กัมพูชา และลาว จะสามารถเชื่อมต่อความสัมพันธ์ทางธุรกิจที่เป็นประโยชน์ร่วมกันต่อไปได้ในอนาคต
31 พ.ค. 2024
“อสอ.ภาสกร” นั่งหัวโต๊ะติดตามระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของดีพร้อม
กรุงเทพฯ 29 พฤษภาคม 2567 – นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติเข้าร่วมประชุมรับฟังแผนการทำงานโครงสร้างระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม พร้อมด้วย นายจักรพันธ์ เด่นดวงบริพันธ์ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร คณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ดีพร้อม เข้าร่วม ณ ห้องประชุม อสอ. ชั้น 3 อาคารกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (DIPROM Headquarter) การประชุมดังกล่าว ได้ร่วมกันพิจารณาโครงสร้างระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ประกอบด้วย 4 ส่วนหลัก คือ 1) โครงการ E- Government 2 ) โครงการ E-Service 3) โครงการ E-Office และ 4) โครงการ E-Analytices พร้อมรับฟังบริการดีพร้อม (DIPROM E-Services) ซึ่งเป็นระบบงานที่เตรียมจะเปิดให้บริการภายใต้ระบบบริการดีพร้อมในเร็ว ๆ นี้
30 พ.ค. 2024
"รสอ.ดวงดาว" เยี่ยมชมพันธ์สุข ฟู้ดแอนด์ฟาร์ม
จ.เพชรบุรี 29 พฤษภาคม 2567 – นางดวงดาว ขาวเจริญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ลงพื้นที่เยี่ยมชมพันธ์สุข ฟู้ดแอนด์ฟาร์ม พร้อมด้วย คณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ดีพร้อม (DIPROM) โดยมี คุณสมสุข ทรัพย์อัประไมย เจ้าของธุรกิจ พันธ์สุข ฟู้ดแอนด์ฟาร์ม ให้การต้อนรับ ณ พันธ์สุข ฟู้ดแอนด์ฟาร์ม ตำบลเขาใหญ่ อำเภอชะอำ พันธ์สุข ฟู้ดแอนด์ฟาร์ม เล็งเห็นศักยภาพการท่องเที่ยวในท้องถิ่น จึงริเริ่มโครงการร้านขายของฝาก ที่ตกแต่งด้วยสถาปัตยกรรมสไตล์ยุโรป โดยใช้จุดขายสินค้าที่เป็น Soft Power ชูขนมไทยนานาชนิดที่ลงมือปรุงสดทุกวันเป็นของฝาก โดยมีเคล็ดลับการดำเนินธุรกิจในการคงคุณภาพของสินค้าและบริการด้วยราคาจับต้องได้ เพื่อให้ลูกค้าติดใจ และกลับมาใช้บริการซ้ำ นอกจากนี้ พันธ์สุข ฟู้ดแอนด์ฟาร์มยังสนับสนุนการจ้างงานในท้องถิ่น โดยได้คัดเลือกวัตถุดิบต่าง ๆ จากเกษตรกรผู้ปลูกและผู้ผลิตในจังหวัดมาใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ขึ้นมาอีกด้วย
30 พ.ค. 2024
“ดีพร้อม” จับมือ “กลุ่มเซ็นทรัล” ผลักดันโกโก้ไทย
กรุงเทพฯ 29 พฤษภาคม 2567 – นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานการประชุมหารือแนวทางการบูรณาการความร่วมมือระหว่างกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) และกลุ่มเซ็นทรัล (CENTRAL GROUP) ครั้งที่ 2 - 2567 โดยมี นายอัศวิน ตีระวัฒนพงษ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายโครงการพิเศษ กลุ่มเซ็นทรัล คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กลุ่มเซ็นทรัล คณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ดีพร้อม (DIPROM) เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุม 3 ชั้น 3 อาคารกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (DIPROM Headquarter) การประชุมในวันนี้ ดีพร้อม และกลุ่มเซ็นทรัลได้ร่วมกันเสนอแนวทางการบูรณาการความร่วมมือ เพื่อผลักดันให้เกิดกลไกการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งสองหน่วยงานได้ร่วมเสนอความร่วมมือเกี่ยวกับการพัฒนาด้านโกโก้ ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล โดยดีพร้อมมีแผนการในการใช้พื้นที่ของเซ็นทรัลในการแสดงสินค้าเกี่ยวกับโกโก้ รวมไปถึงกาแฟและสุราชุมชน เพื่อสร้างโอกาสในการเข้าถึงตลาดให้แก่ผู้ประกอบการของไทยต่อไป
30 พ.ค. 2024
"อสอ.ภาสกร" เปิดการอบรมหลักสูตร “ข้าราชการและพนักงานราชการดีพร้อม รุ่นที่ 2”
กรุงเทพฯ 29 พฤษภาคม 2567 - นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานเปิดการฝึกอบรมหลักสูตร “ปฐมนิเทศข้าราชการและพนักงานราชการใหม่” รุ่นที่ 2 และมอบโอวาทแก่ผู้เข้ารับการฝึกอบรมจากส่วนกลางและส่วนภูมิภาค จํานวน 71 คน โดยมี นางสาวประเทือง พฤกษาพิทักษ์กุล เลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวรายงาน ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 6 อาคารกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (DIPROM Headquarter) โครงการดังกล่าว เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรม ได้เรียนรู้ระเบียบแบบแผนของทางราชการและการเป็นข้าราชการที่ดี ตลอดจนวิสัยทัศน์ พันธกิจของหน่วยงาน ปลูกฝังให้มีความตระหนักในหน้าที่ของการเป็นนักส่งเสริมอุตสาหกรรม ซึ่งการฝึกอบรมดังกล่าว ประกอบไปด้วย 1) การบรรยายโดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญในเรื่องต่าง ๆ ได้แก่ บทบาทภารกิจของ กสอ. การดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ สวัสดิการและสิทธิประโยชน์ของข้าราชการ แนวทางการปฏิบัติตามจริยธรรม และ 2) การศึกษาดูงานนอกสถานที่ ณ จังหวัดปทุมธานี เพื่อพัฒนาข้าราชการของดีพร้อม ให้เป็นข้าราชการที่ดีพร้อมในทุกมิติ มีความรู้ความเข้าใจในบทบาทหน้าที่ เรียนรู้ทักษะการสื่อสารที่ดีในการทำงานและการเข้าสังคม รวมไปถึงเป็นการสานสัมพันธ์ระหว่างข้าราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เสริมสร้างความหลากหลายทางด้านความคิดและมุมมอง อันจะนำองค์กรก้าวไปสู่เป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
30 พ.ค. 2024
“รสอ.วัชรุน” Kick off เสริมแกร่งศักยภาพผลิตภัณฑ์ชุมชน RESHAPE THE AREA เชื่อมโยงสู่ Soft Power
จ.อ่างทอง 28 พฤษภาคม 2567 – นายวัชรุน จุ้ยจำลอง รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ หลักสูตร เสริมแกร่งเพื่อสร้างศักยภาพให้เชื่อมโยง Soft Power ภายใต้โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้าชุมชนเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม พร้อมด้วย นางเกษสุดา ดอนเมือง ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 3 คณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ดีพร้อม (DIPROM) เจ้าหน้าที่อุตสาหกรรมจังหวัดอ่างทอง เข้าร่วม โดยมี นายอนุชา เรืองอมรวิวัฒน์ นายอำเภอโพธิ์ทอง และนางสาวสายชล สุขมนต์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบางเจ้าฉ่า ให้การต้อนรับ ณ มีดี รีสอร์ท หมู่ 6 ตำบลไผ่จำศีล อำเภอวิเศษชัยชาญ ตามนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งสนับสนุน Soft Power ของประเทศผ่านกลไกการยกระดับความสามารถด้านความรู้ และนำความคิดสร้างสรรค์ของคนไทยมาเป็นเครื่องมือในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ สร้างงาน สร้างรายได้ควบคู่ไปกับการธำรงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ วัฒนธรรม ภูมิปัญญาของประเทศไทย ทั้งนี้ ดีพร้อม โดยศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 3 เร่งดำเนินการจัดให้มีหลักสูตรอบรมเชิงปฏิบัติการดังกล่าว ระหว่างวันที่ 28 – 30 พฤษภาคม 2567 ภายใต้นโยบาย RESHAPE THE FUTURE ตามแนวคิด RESHAPE THE AREA เพื่อขับเคลื่อนชุมชนสู่เป้าหมายให้ “ชุมชนมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจบนวิถีของตนเองอย่างยั่งยืน” โดยมีผู้สนใจและเข้าร่วมจากทั้งในพื้นที่จังหวัดอ่างทองและพื้นที่จังหวัดใกล้เคียง เข้าร่วมการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตรนี้กว่า 70 คน
29 พ.ค. 2024
รสอ.ดวงดาว เปิดกิจกรรมพัฒนาผู้ประกอบการใหม่
จ.ประจวบคีรีขันธ์ 28 พฤษภาคม 2567 – นางดวงดาว ขาวเจริญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานในการเปิดกิจกรรมต่อยอดธุรกิจ NEC : The prosperity สำหรับผู้ประกอบการใหม่ ภายใต้โครงการเร่งการจัดตั้งและขยายธุรกิจของผู้ประกอบการอัจฉริยะ ประจำปีงบประมาณ 2567 โดยมี คณะผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ดีพร้อม (DIPROM) และผู้ประกอบการ เข้าร่วม ณ ห้อง Sunray Bay โรงแรมเบสท์ เวสเทิร์น พลัส คาราเพซ หัวหิน กิจกรรมในวันนี้ จัดขึ้นโดยกองส่งเสริมผู้ประกอบการและธุรกิจใหม่ ซึ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนาผู้ประกอบการใหม่ หรือ SMEs ที่จะต่อยอดหรือขยายธุรกิจเดิม ทั้งในกลุ่มสปาและความงาม (Beauty & Wellness) กลุ่มสร้างสรรค์และนวัตกรรม (Creative & Innovation) และกลุ่มอาหาร (Food) ให้เป็นผู้ประกอบการที่มีคุณภาพ มีองค์ความรู้ ทักษะ ด้านบริหารจัดการ การปรับตัวและการวางแผนธุรกิจ ผู้เข้าร่วมกิจกรรมยังได้ศึกษาดูงาน ณ สถานประกอบการจริง (On-site-visit) ที่ประสบความสำเร็จและพร้อมเป็นต้นแบบสำหรับการเรียนรู้ต่อธุรกิจอื่น ๆ เพื่อรับฟังการบรรยายและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ถึงประสบการณ์และแนวทางการดำเนินธุรกิจจนประสบความสำเร็จ นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะได้เรียนรู้จากการถ่ายทอดประสบการณ์ของวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาทรัพยากรบุคคล (Human Resource management) เพื่อเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งและผลิตภาพเชิงธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการใหม่ได้มีความพร้อมในการจัดตั้งและขยายธุรกิจ อันจะเป็นรากฐานที่สำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศต่อไป
29 พ.ค. 2024
“อสอ.ภาสกร” ประชุมหารือแนวทางการจัดทำร่าง MOU ร่วมกับสภาเกษตรกรแห่งชาติ
กรุงเทพฯ 28 พฤษภาคม 2567 - นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานในการประชุมหารือแนวทางเพื่อจัดทำร่างบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมกับสภาเกษตรกรแห่งชาติ พร้อมด้วย นายวาที พีระวรานุพงศ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นายณรงค์รัตน์ ม่วงประเสริฐ รองเลขาธิการสภาเกษตรกรแห่งชาติ คณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ดีพร้อม (DIPROM) เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 6 อาคารกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (DIPROM Headquarter) การประชุมดังกล่าว ได้มีการกล่าวถึงบทบาทและภารกิจของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนพืชเศรษฐกิจแต่ละชนิด ได้แก่ โกโก้ (กอ.กสอ.) สมุนไพร (กข.กสอ.) ไผ่ (กช.กสอ.) และ ชีวมวล (กท.กสอ.) ทั้งนี้ ได้มีการร่วมพิจารณาร่างบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมกับสภาเกษตรกรแห่งชาติ และเวลาในการจัดงานลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ต่อไป
29 พ.ค. 2024
รมว.พิมพ์ภัทรา เร่งเครื่อง ‘ก.อุตสาหกรรม’ มอบนโยบาย ‘รื้อ ลด ปลด สร้าง’ หนุนอุตฯ กระตุ้นเศรษฐกิจไทยตอบโจทย์ตลาดโลก คำนึงถึงประโยชน์และผลกระทบประชาชนเป็นสำคัญ
กรุงเทพฯ 27 พฤษภาคม 2567 - นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานการประชุมสัมมนามอบนโยบายเพื่อผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศสู่การขับเคลื่อนในระดับพื้นที่ ซึ่งจัดโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม โดยมีนายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นางสาวไพลิน เทียนสุวรรณ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายเอกภัทร วังสุวรรณ นายบรรจง สุกรีฑา นายใบน้อย สุวรรณชาตรี นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายวิษณุ ทับเที่ยง หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม นายเดชา จาตุธนานันท์ นายวีระกิตติ์ รันทกิจธนวิชญ์ นายศุภกิจ บุญศิริ นายเอกนิติ รมยานนท์ นายเศรษรัชต์ เลือดสกุล ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมจังหวัด และผู้แทนอุตสาหกรรมจังหวัด เข้าร่วมด้วย ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค กรุงเทพฯ รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า จากวันแรกที่เข้ารับตำแหน่งจนถึงวันนี้ มีความมุ่งมั่นและตั้งใจที่จะเข้ามาขับเคลื่อนงานของกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อให้เป็นที่พึ่งของผู้ประกอบการและประชาชนอย่างแท้จริง พร้อมมอบนโยบาย “รื้อ ลด ปลด สร้าง” เพื่อเป็นแนวทางในการทำงานให้กับผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ทุกระดับที่ปฏิบัติงานภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรมทั่วประเทศได้นำไปปรับใช้ในการเร่งรัดสนับสนุนและแก้ไขปัญหาให้กับผู้ประกอบการ พร้อมสร้างปัจจัยแวดล้อมที่เอื้ออำนวย โดยมีเป้าหมายให้ภาคอุตสาหกรรมเป็นกลไกสำคัญ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และอยู่คู่กับประชาชนและสังคมได้อย่างยั่งยืน การดำเนินภารกิจให้สำเร็จนั้น จะทำโดยลำพังไม่ได้ ต้องอาศัยการร่วมแรงร่วมใจของทุกหน่วยงานในกระทรวงอุตสาหกรรม โดยเฉพาะหน่วยงานในระดับพื้นที่ต้องมีบทบาทที่เข้มแข็งมากขึ้น เพื่อให้การขับเคลื่อนนโยบายเร่งด่วนเกิดผลอย่างรวดเร็วเป็นรูปธรรมในระดับพื้นที่ ประกอบด้วย รื้อ ปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบให้เอื้อต่อการประกอบกิจการอุตสาหกรรมมากยิ่งขึ้น อย่าให้ใครมาตราหน้าว่าเป็น “แดนสนธยา ป่าหิมพานต์ ทำงานอยู่ใต้ดิน” เราต้องสื่อสารต่อประชาชนให้เข้าใจ ต้องมีคำตอบด้วยผลงานที่แสดงให้เห็นเป็นรูปธรรม ลด ความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นจากการประกอบการ ซึ่งต้องพิจารณาทั้งระบบตั้งแต่ก่อนการอนุญาตไปจนถึงการกำกับดูแลและการปราบปรามผู้กระทำความผิด ให้อุตสาหกรรมจังหวัดทุกจังหวัดจัดทำแผนแก้วิกฤติโดยฝากปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมกำกับดูแล ปลด ภาระให้ผู้ประกอบการ ลดกระบวนการทำงานที่ไม่จำเป็น รวบรวมรายชื่อผู้ประกอบการให้อยู่ที่เดียวทั้งหมด และสามารถใช้แพลตฟอร์มกลาง ทั้งนี้เพื่อสะดวกต่อการประเมินว่า มีผู้ประกอบการกี่รายที่ได้รับผลกระทบต่อกติกาใหม่ของโลกเพื่อเตรียมพร้อมรับมือ เพื่อให้คงไว้ซึ่งอุตสาหกรรมของประเทศนี้ต่อไป และ สร้าง โอกาสให้ผู้ประกอบการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศชาติ สร้างงาน สร้างอาชีพ เพื่อประโยชน์ของประชาชน นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าวต่อไปว่า เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยให้เดินหน้าสู่อนาคตที่ดีขึ้น กระทรวงอุตสาหกรรมพร้อมผลักดันโครงการใหม่ ๆ เช่น การขับเคลื่อน Green Productivity เพิ่มขีดความสามารถใน การแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทยอย่างยั่งยืน โดยนำเทคโนโลยี นวัตกรรมและการวิจัย มาใช้พัฒนากระบวนการผลิตและผลิตภัณฑ์ การจัดตั้งนิคม Circular แห่งแรกของประเทศไทยในพื้นที่ EEC มุ่งหวังให้เป็นพื้นที่เป้าหมายของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสีเขียวและเศรษฐกิจหมุนเวียน การเดินหน้าขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฮาลาลอย่างต่อเนื่อง รวมถึงส่งเสริมอุตสาหกรรมที่ใช้ทรัพยากรภายในประเทศ เพื่อต่อยอดสู่การเป็นศูนย์กลางเมืองแห่งอุตสาหกรรมระดับโลกตามวิสัยทัศน์ประเทศไทย อาทิ อุตสาหกรรมการผลิตปุ๋ยจากแร่โพแทช ส่งเสริมการใช้แร่ลิเทียมผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า อุตสาหกรรมโกโก้ ยกระดับการผลิตและสร้างมูลค่าเพิ่มแก่อุตสาหกรรมเกษตรไทย อุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพ รองรับการเป็นศูนย์กลางการแพทย์และสุขภาพนานาชาติ “ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา กระทรวงอุตสาหกรรมต้องเผชิญกับความท้าทายในหลายด้าน เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาไม่ให้เกิดขึ้นอีก รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน กระทรวงอุตสาหกรรมจึงต้องปรับสู่การเป็นหน่วยงานที่ “สู้ให้ทุกปัญหา พึ่งพาได้ทุกเรื่อง” โดยคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ เจ้าหน้าที่ อก. ต้องเข้าไปช่วยแก้ปัญหาและเป็นที่พึ่งของผู้ประกอบการและประชาชนในพื้นที่ได้ในทุกเรื่องอย่างทันท่วงที ตลอดจนขจัดอุปสรรคต่าง ๆ เช่น การปรับปรุง พ.ร.บ.โรงงาน การเพิ่มบทลงโทษผู้กระทำผิด การผลักดันการจัดตั้งกองทุนเพื่อใช้ในการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย รวมถึงการผลักดันการแก้ปัญหาเรื่องผังเมือง โดยบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง” นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าว นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ภายใต้สถานการณ์ความท้าทายในการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เราต้องเผชิญอยู่ในปัจจุบัน ทำให้ทิศทางการพัฒนาประเทศมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาอย่างยั่งยืนและทั่วถึง ครอบคลุมมิติของสังคมและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ดังนั้น การพัฒนาเชิงพื้นที่จึงเป็นนโยบายที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมให้ความสำคัญสูง โดยมุ่งเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมที่สอดรับกับศักยภาพของพื้นที่และนโยบายการพัฒนาเชิงพื้นที่ของรัฐบาล เพื่อให้เกิดการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย และเกิดการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค ลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ สร้างการเติบโตของเศรษฐกิจแบบมีส่วนร่วม (Inclusive Growth) ได้อย่างยั่งยืนต่อไป
28 พ.ค. 2024
“รสอ.ดวงดาว” ลงพื้นที่เยี่ยมชมกลุ่มวิสาหกิจชุมชน จ.อุบลราชธานี
จ.อุบลราชธานี 26 พฤษภาคม 2567 - นางดวงดาว ขาวเจริญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและติดตามการดําเนินงานส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรม วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และวิสาหกิจชุมชน ซึ่งเป็นผู้ประกอบการที่ได้รับการส่งเสริมจากศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 7 พร้อมด้วย นางละเอียด มธุรส ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 7 และเจ้าหน้าที่ดีพร้อม (DIPROM) ณ จ.อุบลราชธานี การลงพื้นที่ในครั้งนี้ ได้ตรวจเยี่ยมและติดตามวิสาหกิจชุมชน ประกอบไปด้วย เฮือนชูฮัก โฮมสตังค์ กลุ่มฝ้ายแท้ทอมือเขมราฐ และวิสาหกิจชุมชนอ้อมกอดผ้าฝ้าย ซึ่งศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 7 ได้เข้ามาส่งเสริมพัฒนาผลิตภัณฑ์ ได้แก่ การให้คำแนะนำเชิงลึกการพัฒนาชุมชนด้วยทุนทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาสู่สากล สนับสนุนกิจกรรมยกระดับการออกแบบบรรจุภัณฑ์สร้างสรรค์ (Creative Packaging Design) รวมไปถึงการออกแบบบรรจุภัณฑ์ข้าวเม่าคาราเมลให้แก่กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้ผสานอัตลักษณ์ และความคิดสร้างสรรค์ เพื่อต่อยอดให้ผลิตภัณฑ์มีความน่าสนใจ สามารถเพิ่มมูลค่า สร้างรายได้ให้กับกลุ่มชุมชน อีกทั้งเป็นการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนให้มั่นคงได้อย่างยั่งยืน
28 พ.ค. 2024