อธิบดีณัฐพล ประชุมนโยบายการใช้โลโก้ "ดีพร้อม" เร่งสร้างความจดจำต่อสาธารณชน
จ.ลำปาง 15 กุมภาพันธ์ 2565 - ดร.ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานการประชุมผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) หรือ ดีพร้อม (DIPROM) ร่วมด้วย นายภาสกร ชัยรัตน์ และนางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม คณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ดีพร้อม ณ ห้องประชุม ชั้น 1 ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้าอุตสาหกรรมภาคเหนือ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (DIPROM Meeting, Industrial Conference and Exhibition Center : DIPROM MICE CENTER) อำเภอเกาะคา และในรูปแบบออนไลน์ผ่านระบบแอปพลิเคชัน Zoom Meeting โดยอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้แนวทางรูปแบบการนำตราสัญลักษณ์กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) หรือ ดีพร้อม (DIPROM) และการปรับเปลี่ยนชื่อโครงการ/กิจกรรมให้มีความสอดคล้องและสื่อถึงความเป็นดีพร้อม โดยมีรายละเอียดสำคัญ ดังนี้ 1. การปรับเปลี่ยนชื่อโครงการ/กิจกรรม ขอให้ทุกหน่วยงานปรับเปลี่ยนโดยการนำชื่อดีพร้อมไปใส่ในชื่อทั้งภาษาไทยและอังกฤษ ซึ่งต้องมีความหมายที่สอดคล้องและสื่อสารได้ หากไม่สามารถทำได้ให้ใช้ชื่อกิจกรรมเดิม แต่ขอให้นำชื่อกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ไปต่อท้ายชื่อโครงการ/กิจกรรม 2. ให้ทุกโครงการ/กิจกรรมใช้โลโก้ของกรมฯ เท่านั้น รวมถึงขอให้งดใช้โลโก้ของที่ปรึกษาซึ่งเป็นผู้รับจ้างของกรมฯ ทุกกรณี ยกเว้นแต่เป็นหน่วยงานที่ร่วมจัดงาน หรือ มีการบูรณาการความร่วมมือกับทางกรมฯ เท่านั้น จึงสามารถใช้โลโก้คู่กันได้ 3. โครงการ/กิจกรรมที่มีโลโก้ของตนเอง ขอให้ใช้เพียงโลโก้กรมฯ เท่านั้น ยกเว้นที่มีบุคคลภายนอกนำไปใช้ด้วยสามารถใช้ได้เหมือนเดิม ประกอบด้วย CIV คพอ. Thailand Textiles Tag ThaiStar 4. โครงการ/กิจกรรมที่มีการอบรม หรือสัมมนาระหว่างการจัดฝึกอบรม หรือ สัมมนาขอให้ใช้โลโก้กรมฯ เท่านั้น 5. สำหรับในส่วนของโครงการ/กิจกรรมอื่น ๆ ที่ยังไม่มีโลโก้ให้ใช้โลโก้กรมฯ เท่านั้น 6. ชื่อศูนย์ ITC และ Thai-IDC จะเหลือเพียงเฉพาะส่วนกลาง และให้นำชื่อดีพร้อมเข้าไปใส่ในชื่อเดิม 7. สำหรับส่วนภูมิภาคให้ใช้รวมกันเป็นชื่อ DIPROM CENTER (ดีพร้อมเซ็นเตอร์) 1-11 เท่านั้น (IPC+ITC+Thai-IDC) 8. ให้ใช้โลโก้ ดีพร้อม แทน โลโก้เดิม ITC และ Thai-IDC ไม่ให้ใช้คู่กัน 9. ให้ที่ปรึกษา/ผู้รับจ้างใส่เสื้อดีพร้อม เพื่อให้รู้ว่าเป็นโครงการ/กิจกรรมของกรมฯ และ 10. การขอใช้โลโก้ดีพร้อมจาก ผปก./หน่วยงานต่าง ๆ จะเป็นการแสดงให้เห็นว่าได้รับบริการจากดีพร้อม ไม่ได้เป็นการรับรองคุณภาพและมาตรฐานผลิตภัณฑ์แต่อย่างใด ### PR.DIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
15 ก.พ. 2022
“อธิบดีณัฐพล” เยี่ยมชมและให้กำลังใจทีมดีพร้อม ศว.กสอ. ในลำปางเซรามิกแฟร์
จ.ลำปาง เมื่อเร็วๆ นี้ (14 กุมภาพันธ์ 2565) - ดร.ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม พร้อมด้วย นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม คณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) หรือ ดีพร้อม (DIPROM) ลงพื้นที่เยี่ยมชมและให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ดีพร้อมที่ร่วมออกบูธภายในงาน Lampang Ceramic World Class หรือ ลำปางเซรามิกแฟร์ ครั้งที่ 34 ณ บริเวณลานอเนกประสงค์ด้านหน้าห้างไทวัสดุ สาขาลำปาง อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม พร้อมคณะผู้บริหารดีพร้อม เยี่ยมชมและให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ดีพร้อม ณ บูธของศูนย์วิจัยและพัฒนาวัสดุอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ กรมส่งเสริมอตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (ศว.กสอ.) ภายในงานลำปางเซรามิกแฟร์ ซึ่งทาง ศว.กสอ. ได้ร่วมบูรณาการความร่วมมือในเชิงพื้นที่กับทางจังหวัดลำปางและเครือข่ายภาครัฐและเอกชน โดยการร่วมออกบูธเพื่อให้บริการด้านวิชาการและให้คำปรึกษาแนะนำเบื้องต้นเกี่ยวกับอุตสาหกรรมเซรามิก การให้บริการด้านสินเชื่อเงินทุนหมุนเวียน การสาธิตการขึ้นรูปผลิตภัณฑ์เซรามิก รวมถึงการให้บริการของศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมดีพร้อม หรือ ศูนย์ ITC DIPROM นอกจากนี้ อธิบดีณัฐพล ยังได้เยี่ยมชมและให้กำลังใจผู้ประกอบการ คพอ. และ SMEs ที่ได้รับบริการจากดีพร้อม ซึ่งได้เข้าร่วมออกบูธจำหน่ายสินค้าเพื่อเป็นการทดสอบตลาดภายในงานครั้งนี้อีกด้วย ทั้งนี้ งานลำปางเซรามิกแฟร์ ถือเป็นหนึ่งในกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวและเป็นมหกรรมสินค้าแห่งภูมิปัญญาประจำท้องถิ่นที่ใหญ่ที่สุดของจังหวัดลำปาง โดยเป็นการเผยแพร่เชิดชูอัตลักษณ์ของจังหวัดลำปางให้สมกับที่ได้รับการยกย่องให้เป็น "ลำปาง-นครแห่งเมืองเซรามิก" รวมถึงเพื่อประชาสัมพันธ์สินค้าเซรามิกของ จังหวัดลำปาง ให้ได้เป็นที่รู้จักแพร่หลายไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ ถือได้ว่าเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวให้กับจังหวัด อีกทั้ง ยังเปิดโอกาสให้เจ้าของโรงงานเซรามิกได้นำสินค้าผลิตภัณฑ์มาจัดแสดงออกสู่สายตาลูกค้า ซึ่งจะทำให้เกิดการจับคู่ทางธุรกิจเกิดการเชื่อมโยงผลิตภัณฑ์จากชุมชนออกสู่ตลาดทั้งในประเทศและตลาดสากล เพื่อเตรียมการพัฒนาความพร้อมแก่ผู้ประกอบการให้สามารถก้าวสู่ระบบตลาดการค้าเสรีได้อย่างภาคภูมิ มั่นคงและยั่งยืน โดยงานดังกล่าวจัดขึ้นระหว่างวันที่ 12 - 22 กุมภาพันธ์ 2565 ตั้งแต่เวลา 09.00 - 21.00 น. ### PR.DIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน
15 ก.พ. 2022
ทีมโต๊ะญี่ปุ่น (DIPROM Japan Desk) ชวนเที่ยวงานดีพร้อมมอเตอร์โชว์ ระหว่างวันที่ 9 - 16 กุมภาพันธ์ 2565 ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้าอุตสาหกรรมภาคเหนือ
จ.ลำปาง เมื่อเร็ว ๆ นี้ (14 กุมภาพันธ์ 2565) - บุคลากรประจำโต๊ะญี่ปุ่น กสอ. (DIPROM Japan Desk) นายเท็ตสึยะ อิโนะอุเอะ ผู้แทนองค์การเพื่อวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และนวัตกรรมภูมิภาคแห่งประเทศญี่ปุ่น (SMRJ) และนายนาโอกิ โทคุทสึ ผู้แทนรัฐบาลท้องถิ่นจังหวัดวากายามะ ประเทศญี่ปุ่น เยี่ยมชมงาน DIPROM MOTOR SHOW 2022 บริเวณโซนรถยนต์และรถจักรยานยนต์ พร้อมทั้งเชิญชวนผู้ที่สนใจเข้าเที่ยวชมงานในครั้งนี้ ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้าอุตสาหกรรมภาคเหนือ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (DIPROM MICE Center) อำเภอเกาะคา ### PR.DIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน
15 ก.พ. 2022
“อธิบดีณัฐพล” นำคณะดีพร้อมลงพื้นที่ชุมชนหนองเงือก ดึงอัตลักษณ์พื้นถิ่นสู่ DIPROM CIV
จ.ลำพูน 14 กุมภาพันธ์ 2565 - ดร.ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม พร้อมด้วย นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นางจันทนา ไวยาวัจมัย อุตสาหกรรมจังหวัดลำพูน คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) หรือ ดีพร้อม (DIPROM) ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ดีพร้อม (DIPROM CIV: DIPROM Creative Industry Village) ณ ชุมชนบ้านหนองเงือก ตำบลแม่แรง อำเภอป่าซาง โดยมี นายสุรสิทธิ์ ชัยอุปาระ ประธานชุมชนหมู่บ้านหนองเงือก ให้การต้อนรับและนำเยี่ยมชมวิถีชุมชนและการดำเนินงานของชุมชน “ชุมชนบ้านหนองเงือก” เป็นชุมชนได้รับการสนับสนุนจากดีพร้อมผ่านหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ดีพร้อม (DIPROM CIV: DIPROM Creative Industry Village) จากศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 จ.เชียงใหม่ หรือ ดีพร้อมเซ็นเตอร์ 1 โดยชุมชนดังกล่าวยังคงอนุรักษ์วิถีการดำเนินชีวิตที่เป็นตัวตนของท้องถิ่นเอาไว้อย่างมั่นคง มีทุนทางวัฒนธรรมที่โดดเด่น ได้แก่ วิถีชีวิตชาวยองและประเพณีต่าง ๆ ที่ยังคงมีการสืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่นและความโดดเด่นในการนำเสนอผ่านสื่อต่าง ๆ ได้ดี นอกจากนี้ ยังมีวัดหนองเงือกที่มีประวัติศาสตร์และความเป็นมาที่ชัดเจนให้ได้ศึกษาเรียนรู้ ขณะเดียวกัน ชุมชนหนองเงือก ยังมีผลิตภัณฑ์ชุมชนที่มีอัตลักษณ์และเอกลักษณ์ที่ชัดเจน ประกอบด้วย 1. รองเท้ายอง เป็นผลิตภัณฑ์งานฝีมือจากยางรถยนต์มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์รองเท้า โดยสอดคล้องกับหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายด้านการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยในการพัฒนา 3 ด้าน คือ เศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) หรือโมเดลเศรษฐกิจ BCG โดยการออกแบบผลิตภัณฑ์และการนำวัตถุดิบที่ผ่านการผลิตและบริโภคแล้วเข้าสู่กระบวนการแปรสภาพเพื่อกลับมาใช้ใหม่ (Recycle, Upcycle) ซึ่งยาง 1 เส้น ผลิตเป็นรองเท้าได้ 16 คู่ และมียอดการสั่งจองผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์อย่างช้อปปี้และลาซาด้า โดยทางดีพร้อมได้เข้าไปช่วยพัฒนารูปแบบแพทเทิร์นของรองเท้าให้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้ามากขึ้น 2. ผลิตภัณฑ์ผ้าฝ้ายทอมือ ซึ่งชุมชนดังกล่าวถือเป็นแหล่งผลิตผ้าฝ้ายทอมือใหญ่ที่สุดของประเทศ เพราะมีจุดเด่นผ้าฝ้ายทอมือแบบโบราณ นอกจากนี้ ยังมีศูนย์รวมผลิตภัณฑ์เครือข่ายกลุ่มทอผ้าหัตถกรรมพื้นบ้านอำเภอป่าซางขึ้นในหมู่บ้าน รวมทั้งมีที่พักโฮมสเตย์ในชุมชนที่ได้มาตรฐานจำนวนหลายหลังเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่แวะเวียนกันมาซึมซับอัตลักษณ์พื้นถิ่นแห่งนี้ ### PR.DIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
15 ก.พ. 2022
แม่ทัพดีพร้อม นำคณะผู้บริหารลงพื้นที่เมืองล้านนา เยี่ยมชมผลสำเร็จชุมชนออนใต้ ดึงอัตลักษณ์ชุมชนอัพเกรดสู่การสร้าง แบรนด์อย่างยั่งยืน
จ.เชียงใหม่ 14 กุมภาพันธ์ 2565 - ดร.ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม พร้อมด้วย นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) หรือ ดีพร้อม (DIPROM) ลงพื้นที่เยี่ยมชมความเข้มแข็งการท่องเที่ยววิถีชุมชนและรับฟังการบรรยายสรุปภาพรวมของชุมชนออนใต้ภายใต้โครงการหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ดีพร้อม (DIPROM CIV : DIPROM Creative Industry Village) จาก นางสาวฉัตรรุ่ง ประกอบไวทยกิจ ประธานผู้นำชุมชน โดยมี นายสมศักดิ์ วงค์แก้วแปง นายกเทศมนตรีตำบลออนใต้ ให้การต้อนรับ ณ ชุมชนออนใต้ ตำบลออนใต้ อำเภอสันกำแพง อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้เยี่ยมชมจุดต่าง ๆ ตามเส้นทางการท่องเที่ยวของชุมชนออนใต้ อาทิ กลุ่มตัดเย็บกระเป๋าผ้า ออนใต้ฟาร์ม มัลเบอร์รี่ฟาร์ม อยากกาแฟ โดยอธิบดีณัฐพลได้เสนอแนะให้แนวทางการพัฒนาชุมชนออนใต้ในการสร้างแบรนด์ของชุมชนให้มีความเข้มแข็ง การนำเสนออัตลักษณ์ของออนใต้ให้นักท่องเที่ยวรู้จักกับแบรนด์ออนใต้ชัดเจนมากกว่าหมู่บ้าน CIV รวมถึงการจดลิขสิทธิ์ตราสัญลักษณ์ปลา 3 ตัว ซึ่งเป็นแบรนด์ของออนใต้ ตลอดจนการสร้างมาตรฐานอุตสาหกรรมเอส หรือ มอก.เอส ให้กับผู้ประกอบการรายอื่น ๆ ในชุมชน เพื่อให้ผู้ประกอบการในชุมชนให้มีมาตรฐานเดียวกัน ทั้งนี้ ปัจจุบันชุมชนออนใต้ได้นำมาตรฐาน มอก.เอส การบริการหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เพื่อการท่องเที่ยว (Creative Industrial Village Services for Tourism) มาประยุกต์ใช้กับชุมชน โดย มอก.เอส เป็นมาตรฐานความปลอดภัยและคุณภาพของผลิตภัณฑ์และบริการของผู้ประกอบการ ซึ่งการนำทุกจิ๊กซอว์ที่เป็นของดี ของเด่น ของชุมชนมารวมกันเป็นรูปแบบธุรกิจท่องเที่ยวชุมชนที่มาตรฐาน เพื่อยกระดับธุรกิจมาตรฐานการท่องเที่ยวให้มีคุณภาพที่สามารถตอบสนองความต้องการด้านการท่องเที่ยวของลูกค้าได้อย่างมีคุณภาพ ซึ่งมีผู้ประกอบการที่ได้รับ มอก.เอส จำนวน 6 ราย จากทั้งหมด 44 ราย ของชุมชน “ชุมชนออนใต้” เป็นชุมชนเก่าแก่ที่มีการค้นพบหลักศิลาจารึกสมัยล้านนา ซึ่งมีทุนทางวัฒนธรรมและวิถีชีวิตที่ยังคงรักษาไว้ได้ในปัจจุบัน นับว่าเป็นชุมชนเข้มแข็งตัวอย่างที่มีการนำเรื่องราวประวัติศาสตร์ในพื้นที่ ผนวกกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่มาสร้างเป็นจุดขายในการดึงดูดนักท่องเที่ยว เชิงวัฒนธรรม พร้อมกับการนำผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่เดิมในท้องถิ่น มาพัฒนาและต่อยอดด้วยแนวทางสร้างสรรค์ จากการออกแบบ ปรับปรุงผลิตภัณฑ์ใหม่ให้สอดคล้องกับยุคสมัยจนประสบความสำเร็จ นอกจากนี้ ยังเป็น 1 ในชุมชนต้นแบบหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ดีพร้อม (DIPROM CIV: DIPROM Creative Industry Village) ที่ได้รับการส่งเสริมและพัฒนาจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) หรือ ดีพร้อม (DIPROM) โดยศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 จ.เชียงใหม่ ในการออกแบบโลโก้และสโลแกนของชุมชน ที่ว่า “พันนาภูเลา ร้อยเรื่องเล่า เมืองเก่าออนใต้” ซึ่งสื่อถึงอัตลักษณ์และวีถีของชุมชน การพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ ด้วยการประยุกต์ใช้ทุนทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด รวมถึงการพัฒนาและเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัด เนื่องจากชุมชนดังกล่าวเป็นชุมชนที่มีทรัพยากรการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติและยังคงรักษาวิถีชีวิตพื้นบ้านของชุมชนทั้ง 11 หมู่บ้านไว้ ซึ่งเป็นเสน่ห์อย่างดีที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเยือน อีกทั้ง ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวทั้งทางประวัติศาสตร์และธรรมชาติมากมาย อาทิ วัดป่าตึง วัดที่มีชื่อเสียงเรื่องหลวงปู่หล้าตาทิพย์และการเรียนรู้ประเพณีพื้นบ้านผ่านภาพวาดในวัด ดอยม่อนจิ๋ง ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่งดงามที่ได้รับการขนานนามว่า “ฟูจิออนใต้” และเป็นจุดชมวิวที่มองเห็นตัวอำเภอแม่ออน นอกจากนี้ ออนใต้ยังเป็นที่รวมของศิลปวัฒนธรรมล้ำค่า อาทิ สะล้อ ซอ ซึง การฟ้อนต่าง ๆ ซึ่งชาวบ้านทุกหมู่ยังมีการสืบทอดประเพณีวัฒนธรรมล้านนาโบราณ ขณะเดียวกัน ยังมีกิจกรรมและผลิตภัณฑ์ที่ขึ้นชื่อของชุมชนออนใต้ที่นักท่องเที่ยวสามารถร่วมกิจกรรมได้อย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการอีดฝ้าย (ปั่นด้าย) ทอผ้า การจักสานหวาย-ใบลาน การนวดแผนไทย และทำสมุนไพรเพื่อสุขภาพ กิจกรรมขันโตก ชมฟ้อน การทำบุญทานขันข้าวที่วัดป่าตึง การปั้นถ้วย ตลอดจนผลิตภัณฑ์ชุมชนที่ขึ้นชื่อ อาทิ เครื่องเซรามิกลายปลาคู่นก ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของชุมชน ข้าวแต๋นน้ำแตงโมสูตรกวนน้ำตาลในตัว น้ำพริกรสเด็ดจากกลุ่มแม่บ้านป่าตึง ชาสมุนไพรรางจืดลุงเกษมสำหรับให้นักท่องเที่ยวมาสัมผัสเมื่อได้มาเยือนที่แห่งนี้ ### PRDIP (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม) รายงาน / ภาพข่าว
15 ก.พ. 2022
ดีพร้อม “เปิดบ้าน คพอ.” เสริมแกร่งเครือข่ายสร้างพันธมิตรทางธุรกิจอย่างยั่งยืน
จ.ลำปาง 14 กุมภาพันธ์ 2565 - ดร.ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธาน “เปิดบ้าน DIPROM คพอ." ภายใต้งาน DIPROM MOTOR SHOW 2022 ร่วมด้วย นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นายณัฐพล แสงฟ้า นายกสมาคมส่งเสริมพัฒนาผู้ประกอบการไทย หรือ ATED คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) หรือ ดีพร้อม (DIPROM) และผู้ประกอบการโครงการพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรม หรือ คพอ. โดยมี นายวุฒิชัย ประชาพร ผู้อำนวยการกองพัฒนาขีดความสามารถธุรกิจอุตสาหกรรม กสอ. กล่าวรายงาน ณ ห้องประชุม ชั้น 2 ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้าอุตสาหกรรมภาคเหนือ (DIPROM MICE CENTER) อำเภอเกาะคา การจัดกิจกรรมเปิดบ้าน DIPROM คพอ. เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ก่อให้เกิดการสร้างโอกาสทางการตลาดให้ผู้ประกอบการโครงการพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรม หรือ คพอ. และส่งเสริมให้เกิดการเชื่อมโยงเครือข่ายสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้ประกอบการ คพอ. และเจ้าหน้าที่ดีพร้อม ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีโอกาสในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ร่วมกันอันเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานในภาพรวมของดีพร้อม นอกจากนี้ ยังทําให้ผู้ประกอบการ คพอ. ในพื้นที่ภาคเหนือและจังหวัดอื่น ๆ ได้มีการพบปะและทําความรู้จักกันมากขึ้น รวมถึงแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ ก่อให้เกิดการเชื่อมโยงเครือข่ายความสัมพันธ์ที่เข้มแข็งระหว่างกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการส่งผลให้โอกาสทางธุรกิจเพิ่มสูงขึ้นและเติบโตต่อไปได้อย่างยั่งยืน โดยกิจกรรมในครั้งนี้ ประกอบด้วย กิจกรรมการออกร้านจําหน่ายสินค้าของผู้ประกอบการ คพอ. ทั่วประเทศ ซึ่งมีการจําหน่ายสินค้าทั้งอุปโภคและบริโภค ภายในงาน DIPROM MOTOR SHOW 2022 ระหว่างวันที่ 9 – 16 กุมภาพันธ์ 2565 กิจกรรมจับคู่ธุรกิจ (Business Matching)โดยมีเทรดเดอร์มาให้คําแนะนําการสร้างโอกาสทางการตลาดทุกช่องทาง ได้แก่ 1) การขยายตลาดต่างประเทศอาเซียน+จีน 2) การขยายตลาดในประเทศนําเสนอสินค้าเข้าโมเดิร์นเทรด (Offline) อาทิ เลมอนฟาร์ม ริมปิง ซุปเปอร์มาร์เก็ต ฟู้ดแลนด์ โลตัส โก เฟรช และ 3) การขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ (E-Commerce) อาทิ Line@ Google Instagram YouTube Facebook ซึ่งมีผู้ประกอบการสนใจเข้าร่วมทั้งสิ้น 63 ราย กิจกรรมเชื่อมโยงเครือข่ายความสัมพันธ์ระหว่างสมาคมส่งเสริมพัฒนาผู้ประกอบการไทย (Association for Thai Entrepreneurship Development: ATED) และ ATED จังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ ทั้งนี้ โครงการพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรม หรือ คพอ. เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2523 จนถึงปัจจุบัน เป็นระยะเวลา 42 ปี โดยมุ่งเน้นพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีตามภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศให้เป็นนักธุรกิจที่พร้อมจะพัฒนาและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงตามสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น รวมถึงรู้หลักในการบริหารธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถอยู่รอดและแข่งขันได้อย่างยั่งยืน ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิก คพอ. ทั่วประเทศกว่า 12,000 ราย โดยอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือ จํานวน 3,198 ราย ### PRDIProm (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
14 ก.พ. 2022
“อธิบดีณัฐพล” พร้อมขุนพลทีมดีพร้อม ลงพื้นที่เมืองรถม้า เยี่ยมชมบูธและให้กำลังใจผู้ประกอบการภายในงาน "DIPROM MOTOR SHOW 2022"
จ.ลำปาง 13 กุมภาพันธ์ 2565 - ดร.ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม พร้อมด้วย นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม คณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) หรือ ดีพร้อม (DIPROM) เยี่ยมชมบูธและให้กำลังใจผู้ประกอบการภายในงาน "DIPROM MOTOR SHOW 2022" ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้าอุตสาหกรรมภาคเหนือ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (DIPROM Meeting, Industrial Conference and Exhibition Center : DIPROM MICE CENTER) อำเภอเกาะคา ขณะเดียวกัน ยังได้ประชุมหารือติดตามความคืบหน้ารวมถึงปัญหาและอุปสรรคในการจัดงานครั้งนี้ ซึ่งมี นายอรรถวิท เตชะวิบูลย์วงศ์ เลขาธิการสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย เข้าร่วมประชุมในรูปแบบออนไลน์ผ่านระบบแอปพลิเคชัน Zoom Meeting โดยมีประเด็นสาระสำคัญ ประกอบด้วย การประชาสัมพันธ์เชิญชวนผู้ที่สนใจเข้าร่วมงานผ่านทุก ๆ ช่องทางเพิ่มมากขึ้น รวมถึงการนำป้ายไปติดที่ทำการผู้แทนจำหน่ายรถยนต์ของแต่ละค่ายในพื้นลำปาง ตลอดจนการประชาสัมพันธ์โปรโมชั่นต่าง ๆ ของแต่ละค่ายรถยนต์ การขอความอนุเคราะห์ติดป้ายประชาสัมพันธ์ตามหน่วยงานราชการต่าง ๆ ในจังหวัดลำปาง การขอความอนุเคราะห์จากผู้ว่าราชการจังหวัดลำปางให้หน่วยงานทั้งภาครัฐ-เอกชนในพื้นที่จังหวัดลำปาง มาร่วมศึกษาดูงานการใช้พื้นที่ศูนย์ดีพร้อมไมซ์ในการจัดงาน เพื่อที่จะให้เห็นถึงการใช้สอยพื้นที่ต่าง ๆ ภายในศูนย์ฯ จัดงานต่าง ๆ การกำหนดวันจับสลากและส่งมอบรางวัลสำหรับผู้โชคดีที่เข้ามาร่วมกิจกรรมภายในงาน และทำตามกติกาอย่างถูกต้อง ในการลุ้นรับรถจักรยานยนต์และรถยนต์ นอกจากนี้ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม พร้อมคณะผู้บริหารดีพร้อม ยังได้ประชุมเตรียมการและสถานที่การจัดงาน เปิดบ้าน คพอ. ที่จะมีขึ้นในวันพรุ่งนี้ (14 กุมภาพันธ์ 2565) ภายในงาน "DIPROM MOTOR SHOW 2022" ด้วย ### PRDIProm (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
14 ก.พ. 2022
“อธิบดีณัฐพล” นำทีมดีพร้อม ชมสาธิตการใช้โดรนเพื่อการเกษตร อีกหนึ่งเครื่องมือเสริมศักยภาพเกษตรอุตสาหกรรม
จ.ลำปาง 10 กุมภาพันธ์ 2565 - ดร.ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม พร้อมด้วย นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นางสาวประเทือง พฤกษาพิทักษ์กุล เลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) หรือ ดีพร้อม(DIPROM) นายสิทธิรงณ์ เร่งเงียบ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 3 กสอ. นางละเอียด มธุรส ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาวัสดุอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ กสอ. และเจ้าหน้าที่ดีพร้อม ชมการสาธิตการใช้เทคโนโลยีโดรนเพื่อการเกษตร ภายในงาน DIPROM MOTOR SHOW 2022 ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้าอุตสาหกรรมภาคเหนือ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (DIPROM Meeting, Industrial Conference and Exhibition Center : DIPROM MICE CENTER) อำเภอเกาะคา สำหรับโดรนเพื่อการเกษตรนี้ เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือในการช่วยดูแลรักษาพืชผลทางการเกษตรได้อย่างเหมาะสมและเพิ่มประสิทธิภาพความสม่ำเสมอของการเจริญเติบโตของพืชผล ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนและทำให้ผลผลิตมีคุณภาพสม่ำเสมอ รวมทั้งช่วยส่งเสริมความยั่งยืนให้แก่ธุรกิจเกษตรได้ โดยการสาธิตการใช้โดรนเพื่อการเกษตรครั้งนี้ เป็นหนึ่งในกิจกรรมดีพร้อม พัฒนาผลิตภาพด้วยเทคโนโลยีเกษตรอุตสาหกรรม (DIPROM Agro-Tech Productivity) สาธิต โดย บริษัท พาวเวอร์ อโกรเทค (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการเพิ่มผลิตภาพด้วยเทคโนโลยีเกษตรอุตสาหกรรมแก่ผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน นักธุรกิจเกษตร และผู้เกี่ยวข้อง จำนวน 50 ราย และดำเนินการคัดเลือกวิสาหกิจ จำนวน 30 ราย เพื่อให้บริการคำปรึกษาแนะนำเชิงลึก ณ สถานประกอบการด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้โดรนเพื่อยกระดับเกษตรสู่เกษตรอุตสาหกรรมต่อไป ### PRDIProm (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
11 ก.พ. 2022
ดีพร้อม ผนึกกำลัง 3 ภาคี เปิดฉาก DIPROM MOTOR SHOW 2022 คาดเงินสะพัดกว่า 150 ล้าน ลุ้นยอดจองอีกกว่า 500 คัน พร้อมดันลำปางสู่ศูนย์อุตสาหกรรมไมซ์
จ.ลำปาง 9 กุมภาพันธ์ 2565 - กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) หรือ ดีพร้อม (DIPROM) ผนึกกำลัง สมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย หอการค้าจังหวัดลำปาง จังหวัดลำปาง รวมถึงภาคีเครือข่ายภาครัฐ-เอกชน เปิดงานมหกรรมยานยนต์สุดยิ่งใหญ่ DIPROM MOTOR SHOW 2022 (ดีพร้อมมอเตอร์โชว์) ในพื้นที่จังหวัดลำปาง โดยมี ดร.ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานในการเปิดงานฯ ซึ่งมี นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวรายงาน นายสุวัชร์ ศุภกาญจน์เดชากุล นายกสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย กล่าวถึงความร่วมมือของภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ นายสกล สุพรรณบรรจง ประธานหอการค้าจังหวัดลำปาง กล่าวถึงความร่วมมือของภาคเอกชนในพื้นที่ และ นายจำลักษ์ กันเพ็ชร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง กล่าวต้อนรับ ร่วมด้วย ผู้บริหารค่ายรถยนต์ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและวิสาหกิจ แขกผู้มีเกียรติ และสื่อมวลชนเข้าร่วมพิธีเปิดงานดังกล่าว ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้าอุตสาหกรรมภาคเหนือ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (DIPROM Meeting, Industrial Conference and Exhibition Center: DIPROM MICE CENTER) อำเภอเกาะคา งาน DIPROM MOTOR SHOW 2022 (ดีพร้อมมอเตอร์โชว์) จัดขึ้นเพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่กําลังฟื้นตัว โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเมืองรองในรูปแบบงานแฟร์ รวมถึงเป็นการบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการแสดงศักยภาพของภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งมุ่งเน้นการเสริมสร้างความเข้มแข็งและเพิ่มศักยภาพให้กับผู้ประกอบการ และผู้ผลิตยานยนต์และชิ้นส่วน ตามแนวโน้มความต้องการของผู้บริโภคในปัจจุบัน ระหว่างวันที่ 9 - 16 กุมภาพันธ์ 2565 ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้าอุตสาหกรรมภาคเหนือ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (DIPROM MICE CENTER) โดยภายในงานประกอบด้วยพื้นที่จัดแสดงและจำหน่ายสินค้าต่าง ๆ จากบริษัทค่ายรถยนต์ชั้นนำ และ ผู้ประกอบการจากทั่วประเทศกว่า 80 ร้านค้า ได้แก่ 1. บูธจากค่ายรถยนต์ชั้นนำ อาทิ Mercedes Benz BMW Mazda Nissan Suzuki Isuzu Toyota Honda Mitsubishi MG GWM และ Ford 2. บูธจากค่ายรถจักรยานยนต์ อาทิ Honda Vespa Baja Yamaha และ Kawasaki 3. บูธสินค้าอุปโภคบริโภค อาทิ สินค้าจาก บริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์ และบริษัทในเครือสหพัฒนพิบูล 4. บูธสินค้าจากผู้ประกอบการทั่วประเทศ ซึ่งได้รับการส่งเสริมและพัฒนาจากดีพร้อมผ่านโครงการพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรม หรือ คพอ. รวมถึงกิจกรรมให้ผู้ประกอบการได้มีช่องทางในการเจรจาจับคู่ธุรกิจ การทดสอบและจำหน่ายสินค้า 5. ลานกิจกรรมการสอนวิธีการขับขี่อย่างปลอดภัยและการทดสอบสมรรถนะรถยนต์ 6. ผู้ประกอบการธุรกิจ Food Truck และ 7. ร้านอาหารเด่นเมืองลำปาง นอกจากนี้ ยังได้พบกับโปรโมชั่นพิเศษสุดจากค่ายรถชั้นนำ และกิจกรรมต่าง ๆ ให้ผู้เข้าชมงานได้ร่วมสนุกและลุ้นรับรางวัลตลอดทั้งงาน โดยคาดว่าจะมีเงินสะพัดในจังหวัดลำปางกว่า 150 ล้านบาท มียอดสั่งจองรถกว่า 500 คัน และมีนักท่องเที่ยวเข้าร่วมงานไม่ต่ำกว่า 40,000 คน ขณะเดียวกัน การจัดงานครั้งนี้ ยังเป็นการต่อยอดการดำเนินงานของศูนย์วิจัยและพัฒนาวัสดุอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เป็นศูนย์ประชุมและแสดงสินค้าอุตสาหกรรมภาคเหนือ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (DIPROM MICE CENTER) เพื่อเป็นการสนับสนุน อุตสาหกรรมจัดประชุมนิทรรศการ หรืออุตสาหกรรมไมซ์ (MICE) โดยการผลักดันให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นศูนย์รวมผู้ประกอบการและเป็นพื้นที่ในการจัดแสดงสินค้าโอทอป สินค้าหัตถกรรม และสินค้าของเอสเอ็มอี รวมถึงเป็นพื้นที่สำหรับการจัดกิจกรรมเจรจาธุรกิจ ซึ่งจะช่วยยกระดับภาคอุตสาหกรรมของภาคเหนือตอนบนด้วย นอกจากนี้ ดีพร้อม ยังมีแผนการจัดกิจกรรมอื่น ๆ ในพื้นที่ของศูนย์ประชุมดังกล่าว เพื่อให้มีความต่อเนื่องในมิติทางเศรษฐกิจ อาทิ นิทรรศการด้านธุรกิจการท่องเที่ยว อุตสาหกรรมไลฟ์สไตล์และของตกแต่งบ้าน การแสดงสินค้าด้านเทคโนโลยี ฯลฯ และจะขยายโมเดลดังกล่าวนี้ไปยังศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 – 11 ซึ่งกระจายอยู่ทั่วประเทศให้มีรูปแบบการดำเนินงานที่หลากหลายและส่งเสริมให้ผู้ประกอบการในส่วนภูมิภาคให้สามารถเข้าถึงและเลือกรับบริการได้ตรงกับความต้องการเช่นเดียวกับการจัดงานดีพร้อมมอเตอร์โชว์ในครั้งนี้ โดยสามารถดูรายละเอียดได้ที่ https://fb.watch/b3bMkzTVqL/ ### PRDIProm (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
10 ก.พ. 2022
“ดีพร้อม” เสริมแกร่งวิสาหกิจเกษตรด้วยเทคโนโลยีโดรนสู่การผลิตเชิงอุตสาหกรรม
จ.ลำปาง 9 กุมภาพันธ์ 2565 - ดร.ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานเปิดกิจกรรมการพัฒนาผลิตภาพของธุรกิจเกษตรด้วยเทคโนโลยีเกษตรอุตสาหกรรม ร่วมด้วย นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) หรือ ดีพร้อม (DIPROM) โดยมี ดร.อริยาพร อำนรรฆสรเดช ผู้อำนวยการกองพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม กสอ. เป็นผู้กล่าวรายงาน ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้าอุตสาหกรรมภาคเหนือ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (DIPROM Meeting, Industrial Conference and Exhibition Center : DIPROM MICE CENTER) อำเภอเกาะคา กิจกรรม “ดีพร้อม พัฒนาผลิตภาพด้วยเทคโนโลยีเกษตรอุตสาหกรรม” (DIPROM Agro-Tech Productivity) จัดขึ้นเพื่อยกระดับกระบวนการผลิต จากเกษตรกรรมสู่เกษตรอุตสาหกรรม โดยนำเทคโนโลยีโดรนสำหรับการผลิตเชิงอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นเครื่องมือหนึ่งในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต มาประยุกต์ใช้งานผ่านการถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีโดรนช่วยให้เพิ่มผลผลิตได้อย่างรวดเร็ว และมีการใช้ภาพถ่ายดาวเทียมเพื่อวิเคราะห์การบริหารจัดการ วางแผนการผลิตและดูแลรักษาได้อย่างเหมาะสม ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการผลิต ทำให้ผลผลิตมีคุณภาพสม่ำเสมอและสามารถเข้าถึงได้ทุกพื้นที่ รวมถึงจะช่วยส่งเสริมความยั่งยืนให้แก่ธุรกิจเกษตรได้ โดยเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมฝึกปฏิบัติบังคับการใช้โดรนในช่วงระยะเวลา 2 วัน ระหว่างวันที่ 9-10 กุมภาพันธ์ 2565 ซึ่งจัดขึ้นภายในงาน DIPROM MOTOR SHOW ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้าอุตสาหกรรมภาคเหนือ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (DIPROM MICE CENTER) อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน นักธุรกิจเกษตร และผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วม จำนวน 50 ราย และจะดำเนินการคัดเลือกวิสาหกิจ จำนวน 30 ราย เพื่อให้บริการคำปรึกษาแนะนำเชิงลึก ณ สถานประกอบการด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสม ในการสำรวจแปลงเกษตรและออกแบบการพัฒนาปรับปรุง ดังนี้ การประเมินสุขภาพพืชที่เพาะปลูกโดยใช้ภาพถ่าย Normalized Difference Vegetation Index (NDVI) จากดาวเทียม เพื่อประเมินข้อมูลพื้นฐาน (Baseline) ก่อนการปรับปรุง การสนับสนุนในการทดลองพัฒนา อาทิ การส่งทีมโดรนเกษตรเพื่อทำการฉีดพ่นสารเสริมประสิทธิภาพการเจริญเติบโต โดยหลังการฉีดพ่นระยะเวลาหนึ่งแล้ว จะทำการประเมินผลการพัฒนาปรับปรุงโดยภาพถ่าย NDVI ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ทราบถึงผลของเทคโนโลยีที่ได้ทดลองใช้จากกิจกรรมต่อการพัฒนาในด้านต่าง ๆ อาทิ การลดต้นทุนการผลิต การเพิ่มความรวดเร็วในการดำเนินงาน การเพิ่มประสิทธิภาพความสม่ำเสมอของการเจริญเติบโตของพืชผล จากการประเมินด้วยเทคโนโลยีภาพถ่ายดาวเทียมและข้อมูลที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ทั้งนี้ คาดว่ากิจกรรมดังกล่าวจะขยายผลการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสู่ผู้สนใจอื่น ๆ สำหรับการธุรกิจเกษตรที่ใกล้เคียงกันต่อไป ### PRDIProm (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
10 ก.พ. 2022