'ดีพร้อม' ดันโลจิสติกส์ไทย ดึงฮุนได โกลวิส ร่วมลงทุนภาคเอกชน
กรุงเทพฯ 17 พฤษภาคม 2565 - ดร.ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติเข้าร่วมงานและกล่าวแสดงความยินดี พิธีเฉลิมฉลองการเปิดสำนักงานในประเทศไทยของบริษัท ฮุนได โกลวิส โลจิสติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด พร้อมด้วยนายจอน โจยอง อุปทูต สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลีประจำประเทศไทย นายจัง ฮุน คิม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฮุนได โกลวิส จำกัด นายกรกฤช จุฬางกูร ประธานบริหาร บริษัท ซัมมิท โอโต บอดี้ อินดัสตรี จำกัด นางสาวนันท์นภัส นามนาค ผู้บริหาร บริษัท อีสเทิร์น แอร์ โลจิสติกส์ จำกัด นายก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) นายธรินทร์ ธนียวัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออลล์ นาว แมนเนจเม้นท์ จำกัด ณ ห้องโฟร์ซีซั่นส์ แกรนด์ บอลลูม ชั้น 3 โรงแรมโฟร์ ซีซั่นส์ โฮเต็ล แบงค็อก แอท เจ้าพระยาริเวอร์ บริษัท ฮุนได โกลวิส โลจิสติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นการร่วมทุนของ 3 บริษัท นำโดยบริษัท ฮุนได โกลวิส ประเทศเกาหลีใต้ในเครือฮุนได มอเตอร์ ร่วมกับ บริษัท ซัมมิท โอโต บอดี้ อินดัสตรี จำกัด เพื่อร่วมในธุรกิจโลจิสติกส์ชิ้นส่วนยานยนต์ และ บริษัท อีสเทิร์น แอร์ โลจิสติกส์ จำกัด บริษัทชั้นนำด้านโลจิสติกส์ ที่จะเข้ามาส่งเสริมในส่วนของการปฏิบัติการด้านซัพพลายเชน และโลจิสติกส์ ด้านพิธีการทางศุลกากร การจัดเก็บ และการขนส่ง ภายใต้ความร่วมมือมุ่งมั่นที่จะเป็นบริษัทผู้นำด้านโลจิสติกส์ในประเทศไทย และพร้อมขยายฐานไปยังประเทศเวียดนาม อินโดนีเซีย และประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน ขณะเดียวกัน บริษัท ฮุนได โกลวิส โลจิสติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด ยังวางแผนที่จะนำรถบรรทุกไฟฟ้า 150 คัน มาใช้ในการขนส่งผลิตภัณฑ์จากศูนย์กระจายสินค้าไปยังร้าน 7-11 เพื่อลดมลภาวะและช่วยอนุรักษ์พลังงาน พร้อมทั้งมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมในกระบวนการขยายผลิตภัณฑ์ของเครือเจริญโภคภัณฑ์ รวมถึงอาหารสด ไปยังประเทศในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้อื่น ๆ เช่น กัมพูชา และมาเลเซีย เป็นต้น ### PRDIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
18 พ.ค. 2022
"ดีพร้อม" ลงพื้นที่ชัยนาท เปลี่ยน วิถีใหม่ ปรุง 7 วิธี ปั้นชุมชนดีพร้อม
จ.ชัยนาท 14 พฤษภาคม 2565 - นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจําสํานักนายกรัฐมนตรี ให้เกียรติเป็นประธานพิธีเปิดและแถลงข่าวโครงการ “DIPROM ยกระดับสินค้าชุมชน กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก นำสู่รายได้คืนถิ่นชุมชน” ในพื้นที่จังหวัดชัยนาท ร่วมด้วย นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม คณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ดีพร้อม (DIPROM) ผู้แทนชุมชนและประชาชนในพื้นที่จำนวนกว่า 200 คน โดยมี ดร.ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวรายงานถึงวัตถุประสงค์ของโครงการ ณ หอประชุมโรงเรียนชัยนาทพิทยาคม อําเภอเมืองชัยนาท กิจกรรมในวันนี้ อธิบดีณัฐพล ได้แถลงความสำเร็จกลไกการพัฒนาชุมชนของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมในยุคที่ 4 ซึ่งเป็นการต่อยอดจากยุคที่ 1 “หมู่บ้านอุตสาหกรรม” ยุคที่ 2 “หมู่บ้านอุตสาหกรรมชนบทเพื่อการท่องเที่ยว หรือ หมู่บ้าน JBIC” และยุคที่ 3 “หมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ดีพร้อม หรือ DIPROM CIV” สู่กลไกปัจจุบัน ยุคที่ 4 “ชุมชนดีพร้อม หรือ DIPROM Community” ด้วย 7 วิธี ปั้นชุมชนดีพร้อม คีย์ลัดสู่ความสำเร็จในการพัฒนาชุมชน ชุมชนดีพร้อม หรือ DIPROM Community จะเป็นชุมชนที่มีความเข้มแข็งสามารถสร้างรายได้อย่างยั่งยืน โดยต่อยอดภาคการท่องเที่ยวจากสถานการณ์ในปัจจุบัน มุ่งยกระดับไปสู่ Gen ใหม่เน้นการปรับรูปแบบการดำเนินงานให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลง ด้วย 7 วิธี ประกอบด้วย – แผนชุมชนดีพร้อม ศึกษาศักยภาพเชิงพื้นที่ และวิเคราะห์จุดเน้นของจังหวัด เพื่อชี้เป้าการพัฒนาให้สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่ โดยยึดหลักการเข้าถึง เข้าใจ และพัฒนาอย่างมีส่วนร่วมกับชุมชนด้วยการอัพเกรดหมู่บ้าน DIPROM CIV สู่ DIPROM Community – คนชุมชนดีพร้อม ปั้นผู้นำชุมชนให้มีความเป็นผู้นำยุคใหม่ของชุมชนที่มีองค์ความรู้ในทุกมิติและสามารถถ่ายทอดกลไก 7 วิธี ปั้นชุมชนดีพร้อมให้กระจายไปในชุมชนได้อย่างครบวงจร รวมทั้งเชื่อมโยงเครือข่ายภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน – แบรนด์ชุมชนดีพร้อม เน้นการสร้างแบรนด์ของท้องถิ่นที่สามารถสื่อถึงความโดดเด่นของพื้นที่ โดยได้สร้าง 4 แบรนด์ชุมชนดีพร้อมในชัยนาท ได้แก่ 1) ชุมชนสรรพยา อำเภอสรรพยา โดยใช้โรงพักสรรพยา 100 ปี 2) ชุมชนเนินขาม อำเภอเนินขาม 3) ชุมชนหนองมะโมง อำเภอหนองมะโมง และ 4) ชุมชนตลาดย้อนยุคสรรคบุรี อำเภอสรรคบุรี – ผลิตภัณฑ์ชุมชนดีพร้อม ยกระดับผลิตภัณฑ์ให้มีความโดดเด่นและมีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น ให้สามารถจำหน่ายได้ในเชิงพาณิชย์ อาทิ ขนมเปี๊ยะกุยหลี เป็นต้น – เครื่องจักรชุมชนดีพร้อม ดีพร้อม มี ดีพร้อมเซ็นเตอร์ (DIPROM CENTER) ที่จะช่วยยกระดับเทคโนโลยีการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำถึงกลางน้ำ โดยการส่งเสริมการนำเครื่องจักรกลการเกษตรมาให้บริการตามความต้องการของชุมชน – ตลาดชุมชนดีพร้อม มุ่งเน้นการสร้างโอกาสทางการตลาดให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงชุมชนใน 3 มิติ 1) ดึงดูดนักท่องเที่ยวมาซื้อของในชุมชน 2) กระจายสินค้าไปขายตามร้านสะดวกซื้อ หรือ Modern Trade และ 3) ผลักดันไปสู่ตลาดออนไลน์ อาทิ ดีพร้อมมาร์เก็ตเพลส (DIPROM Marketplace) และแพลตฟอร์มอื่น ๆ – เงินหมุนเวียนดีพร้อม ออกมาตรการสินเชื่อระยะสั้นเพื่อผู้ประกอบการ หรือที่เรียกว่า ดีพร้อมเปย์ (DIPROM Pay) โดยให้บริการอัตราดอกเบี้ยคงที่แบบขั้นบันได ภายในระยะเวลา 3 ปี ร้อยละ 3-5 นอกจากนี้ดีพร้อม ยังร่วมมือกับ สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ ผ่านโครงการ กสอ. คิด กทบ. ช่วยธุรกิจชุมชน เรียนแล้ว สร้างได้ ขายเป็น เพื่อส่งเสริมทักษะอีคอมเมิร์ชให้กับชุมชน และเพิ่มสภาพคล่องผ่านเงินทุนจากกองทุนหมู่บ้าน “ชุมชนดีพร้อม หรือ DIPROM Community มุ่งเน้นขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนด้วยรูปแบบการพัฒนาที่ถอดบทเรียนจากแผนชุมชนดีพร้อมที่สอดรับกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ ตอบโจทย์ ความต้องการทั้งในเชิงพื้นที่ และรองรับความต้องการของตลาดภายใต้นโยบายปี 2565 ดีพร้อมแคร์ (DIPROM CARE) เพื่อเป็นพลังในการขับเคลื่อนชุมชนดีพร้อมให้มีรายได้ สร้างความเข้มแข็ง สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ตามเป้าหมายของ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม” ซึ่งในวันนี้ ดีพร้อม ได้นำ 1 ใน 7 วิธี ปั้นชุมชนดีพร้อม คนชุมชนดีพร้อม เป็นการพัฒนาทักษะอาชีพให้กับคนในชุมชนผ่านการวิเคราะห์แผนชุมชนดีพร้อมมาเป็นหลักสูตรในการฝึกอาชีพและพัฒนาทักษะให้กับแรงงานกลับถิ่นและคนว่างงานเป็นอาชีพเสริมและสร้างรายได้ โดยผู้เข้ารับการอบรม จำนวน 200 คน จะได้เรียนรู้การพัฒนาผลิตภัณฑ์ตามฐานการเรียนรู้ 4 ฐาน ประกอบด้วย ฐานที่ 1 การทําไม้กวาดดอกหญ้า ฐานที่ 2 การทําไม้กวาดทางมะพร้าว ฐานที่ 3 การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากเศษผ้า และฐานที่ 4 การทําบรรจุภัณฑ์จากผักตบชวา ### PRDIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
17 พ.ค. 2022
“อธิบดีณัฐพล” นำคณะสื่อมวลชน ลงพื้นที่เยี่ยมชมต้นแบบชุมชนสร้างสรรค์แบรนด์จากอัตลักษณ์พื้นถิ่น พร้อมเยี่ยมชมการสาธิตโดรนเพื่อการเกษตรอุตสาหกรรม
จ.ชัยนาท 13 พฤษภาคม 2565 - ดร.ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม พร้อมด้วย นางสาวณัฏฐิญา เนตรยสุภา รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และคณะผู้บริหารดีพร้อม (DIPROM) นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่เยี่ยมชมต้นแบบการพัฒนาชุมชนสรรพยา อำเภอสรรพยา ณ อำเภอสรรพยา และวิสาหกิจชุมชนสวนยางกลางนาต้นแบบการปรับตัวด้วยเทคโนโลยีโดรนการเกษตร ณ อำเภอเมืองชัยนาท ดีพร้อม นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่ชุมชนสรรพยา ณ โรงพักเก่า อำเภอสรรพยา เพื่อเยี่ยมชมผลสำเร็จของการส่งเสริมและพัฒนาการสร้างอัตลักษณ์ผลิตภัณฑ์ชุมชนเชื่อมโยงการท่องเที่ยวจังหวัดชัยนาท โดยดีพร้อมได้เข้าไปยกระดับเศรษฐกิจชุมชนให้เข้มแข็งด้วยการนําจุดแข็งในด้านวัฒนธรรม วิถีชีวิตและภูมิปัญญาของชุมชนมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีอัตลักษณ์ มีความโดดเด่นของพื้นที่ เพื่อเชื่อมโยงสู่การท่องเที่ยวของชุมชนผ่านกลไกต่าง ๆ อาทิ การพัฒนาเพิ่มทักษะการผลิตผลิตภัณฑ์ชุมชน การพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนให้มีอัตลักษณ์และเป็นที่ต้องการของตลาด การพัฒนาผลิตภัณฑ์ของฝากของที่ระลึก การสร้างเรื่องราวชุมชน และการสร้างโอกาสเพื่อการเข้าสู่ช่องทางการตลาดต่าง ๆ ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ให้กับชุมชนอันจะส่งผลให้ชุมชนได้ยกระดับและเพิ่มศักยภาพในพื้นที่ให้เกิดการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้เกิดความยั่งยืนอย่างแท้จริง และในเวลาต่อมาได้ไปเยี่ยมชมการสาธิตการใช้อากาศยานไร้คนขับ หรือ โดรนสำหรับภาคเกษตรอุตสาหกรรม ณ กลุ่มวิสาหกิจสวนยางกลางนา อำเภอเมืองชัยนาท ซึ่งได้รับการพัฒนาโดรนต้นแบบสำหรับการทำการเกษตรอัจฉริยะ ไม่ว่าจะเป็นการตรวจวัดคุณภาพดิน คุณภาพอากาศ การหว่านปุย การพ่นยาฆ่าแมลง หรือการถ่ายภาพวิเคราะห์โรคพืชหรือศัตรูพืช เพื่อเพิ่มผลผลิตและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานได้เป็นอย่างดี ช่วยลดค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการได้ 30-50% ซึ่งเป็นการดำเนินงานภายใต้เครือข่าย “Chainat AGRO Tourism สวนยางกลางนา ชัยนาทกลางใจ” ### PRDIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
17 พ.ค. 2022
“อธิบดีณัฐพล” ร่วมแสดงความยินดีพร้อมมอบวุฒิบัตรผู้ประกอบการ คพอ. พื้นที่ภาคกลาง เสริมความเข้มแข็งเครือข่ายผู้ประกอบการอย่างยั่งยืน
จ.ระยอง 12 พฤษภาคม 2565 - ดร.ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมให้เกียรติเป็นประธานในพิธีปิดและมอบวุฒิบัตรการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการรูปแบบ Hybrid หลักสูตร “การพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรม (คพอ.)” พื้นที่ภาคกลาง ร่วมด้วย นายเจตนิพิฐ รอดภัย รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นายวีรยุทธ อนุจิตรอนันต์ นายกสมาคมส่งเสริมพัฒนาผู้ประกอบการไทยจังหวัดระยอง คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ดีพร้อม นายปวีย์ภัทร วัฒนศิริเศรษฐ ประธาน คพอ. รุ่นที่ 365 จังหวัดชลบุรี นางสาวภิญรดา สุประเสริฐ ประธาน คพอ. รุ่นที่ 377 จังหวัดนครปฐม นางสาวณัฐณิชา สุวิมล ประธาน คพอ. รุ่นที่ 378 จังหวัดระยอง นายชาญวิทย์ คุ้มโชคไพศาล ประธาน คพอ. รุ่นที่ 381 กรุงเทพมหานคร และสมาชิก คพอ. ผู้สำเร็จการฝึกอบรม โดยมี นายณัฐพล แสงฟ้า นายกสมาคมส่งเสริมพัฒนาผู้ประกอบการไทย กล่าวแสดงความยินดี และนางสาวหนึ่งหทัย ธรรมพิทักษ์ ผู้อำนวยการศูนย์ดีพร้อมเซ็นเตอร์ 9 (DIPROM CENTER 9) กล่าวรายงาน ณ โรงแรมโกลเด้น ซิตี้ อำเภอเมืองระยอง กิจกรรมดังกล่าว เป็นการดำเนินงานภายใต้โครงการเร่งการจัดตั้งและขยายธุรกิจของผู้ประกอบการอัจฉริยะ คพอ. พื้นที่ภาคกลาง จำนวน 4 รุ่น คือ รุ่นที่ 365 จังหวัดชลบุรี รุ่นที่ 377 จังหวัดนครปฐม รุ่นที่ 378 จังหวัดระยอง และ รุ่นที่ 381 กรุงเทพมหานคร โดยผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้รับการอบรมไม่น้อยกว่า 90 ชั่วโมง ผ่านการถ่ายทอดองค์ความรู้ในการประกอบธุรกิจอย่างเป็นระบบจากวิทยากรภาครัฐ-เอกชน ที่มีความรู้และประสบการณ์ในการประกอบธุรกิจจริง ในรูปแบบ Workshop ร่วมกันจัดทำแผนพัฒนาธุรกิจของตนเอง เพื่อนำเสนอ ก่อให้เกิดการสังเคราะห์องค์ความรู้ต่างๆ จนสามารถนำไปประยุกต์และปฏิบัติได้จริงกับธุรกิจของตนเองโดยในพื้นที่ภาคกลางมีผู้ผ่านการฝึกอบรมทั้งสิ้น 146 คน ทั้งนี้ โครงการ คพอ. เป็นโครงการที่ดีพร้อมดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2523 - ปัจจุบัน มีผู้ผ่านการฝึกอบรมแล้วจำนวน 12,294 คน ทั่วประเทศ ส่งผลให้ผู้ประกอบการได้ปรับปรุงการบริหารจัดการ เกิดประสิทธิภาพและเพิ่มศักยภาพ รวมไปถึงเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้เป็นอย่างดี รวมทั้งเกิดการสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงธุรกิจในจังหวัดตนเองและในระดับภูมิภาคไปจนถึงในระดับประเทศต่อไป ### PRDIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
17 พ.ค. 2022
ดีพร้อม ต้อนรับคณะ METI ร่วมหารือความร่วมมือในการผลักดันข้อริเริ่ม AJIF กระตุ้นการลงทุนในกลุ่มประเทศอาเซียน
กรุงเทพฯ 10 พฤษภาคม 2565 - ดร.ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และ นายภาสกร ชัยรัตน์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นำคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ดีพร้อม (DIPROM) ให้การต้อนรับคณะจากกรมนโยบายการค้า กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม ประเทศญี่ปุ่น (Trade Policy Bureau, METI) นำโดย นายยาฮากิ โทโมโยชิ Director General for Trade Policy พร้อมด้วย นายทาเคทานิ อัทสึชิ ประธานสำนักงานเจโทร (JETRO) กรุงเทพฯ ผู้บริหารจากสถานทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย องค์การพัฒนาพลังงานใหม่และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม (NEDO) The Association for Overseas Technical Cooperation and Sustainable Partnerships (AOTS) ประจำประเทศไทย และคณะจากกระทรวง METI ประเทศญี่ปุ่น ณ ห้องประชุม 2 ชั้น 3 อาคาร กสอ. ในการประชุมครั้งนี้ เป็นการหารือแนวทางความร่วมมือในการผลักดันข้อริเริ่ม ASEAN-Japan Investing for the Future Initiative (AJIF) ที่ประกาศไปเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยมีเป้าหมายสำคัญในการกระตุ้นการลงทุนของนักลงทุนชาวญี่ปุ่นในอาเซียน เพื่อร่วมกันส่งเสริมให้อาเซียนเป็นห่วงโซ่อุปทานระดับโลก สร้างสรรค์นวัตกรรมที่จะสร้างความยั่งยืนและแก้ปัญหาสังคม ซึ่งสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน ซึ่งเป็นนโยบายที่ได้รับการตอบรับจากนักลงทุนเป็นอย่างดี ทั้งนี้ การดำเนินงานที่สำคัญภายใต้ข้อริเริ่มดังกล่าว คือการพัฒนาทักษะบุคลากรในภาคอุตสาหกรรมเพื่อผลักดันประเทศไทยให้เข้าสู่ Thailand 4.0 ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาดีพร้อมได้รับการสนับสนุนจาก METI ในโครงการที่เกี่ยวข้อง เช่น โครงการสาธิตการผลิตแบบลีนออโตเมชั่น (Lean Automation System Integrators: LASI Project) โครงการ Lean IoT Plant Management and Execution (LIPE) และโครงการ Smart Monodzukuri Support Team System โดยการหารือในวันนี้ดีพร้อมและ Trade Policy Bureau มีความเห็นตรงกันเกี่ยวกับการขับเคลื่อนโครงการดังกล่าวให้มีความต่อเนื่อง รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดการผลักดันบุคลากรที่ได้รับการพัฒนาทักษะให้เข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมไทยเข้าสู่ Thailand 4.0 โดยจะมีการหารือร่วมกับ METI ถึงรายละเอียดต่อไป นอกจากนี้ ประเทศไทยนับได้ว่าเป็นแหล่งการลงทุนที่นักลงทุนชาวญี่ปุ่นยังคงให้ความสำคัญ และรัฐบาลญี่ปุ่นต้องการที่จะผลักดันให้เกิดการตั้งโรงงานผลิตยานยนต์ไฟฟ้า ตลอดจนยานยนต์สมัยใหม่ในประเทศไทย ซึ่งแนวทางดังกล่าวมีความสอดคล้องกับนโยบาย BCG ของไทย โดยดีพร้อมจะร่วมกับ METI ในการผลักดันให้เกิดความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมต่อไป ## PRDIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
12 พ.ค. 2022
ดีพร้อม โชว์ผลสำเร็จพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างสร้างสรรค์ พร้อมชูบ้านมอญสุดยอดเครื่องปั้นดินเผา
จ.นครสวรรค์ 8 พฤษภาคม 2565 - ดร.ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม พร้อมด้วย นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม คณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ดีพร้อม (DIPROM) ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมความคืบหน้าและรับฟังสรุปภาพรวมของชุมชนบ้านมอญ หนึ่งในชุมชนหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ดีพร้อม หรือ หมู่บ้าน DIPROM CIV โดยมี นายเอกลักษณ์ กษมากรณ์ คณะกรรมการกลุ่มเครื่องปั้นดินเผาบ้านมอญให้การต้อนรับและนำเยี่ยมชมกระบวนการผลิตเครื่องปั้นดินเผา ณ ชุมชนบ้านมอญ อำเภอเมืองนครสวรรค์ “ชุมชนบ้านมอญ” ถือเป็นชุมชนชาวมอญเก่าแก่ของนครสวรรค์ มีชื่อเสียงมากเรื่องเครื่องปั้นดินเผา ซึ่งสืบทอดภูมิปัญญาการทำเครื่องปั้นดินเผาจากรุ่นสู่รุ่นมาจนถึงปัจจุบัน และได้รับการยอมรับว่าเป็นแหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผาที่มีชื่อเสียงมากอีกแห่งหนึ่งของประเทศ เพราะเครื่องปั้นดินเผาคุณภาพดี เป็นสินค้าโอท็อประดับ 5 ดาวของนครสวรรค์ และเป็น 1 ในสินค้าไทยเด่นจาก 77 จังหวัด โดยมีจุดเด่น คือ ใช้ดินเหนียวคุณภาพดีในท้องถิ่น ปั้นง่าย เผาแล้วไม่แตก อีกทั้ง ฝีมือการปั้นที่ประณีต สร้างสรรค์ผลงานหลากหลายรูปแบบ ทั้งทำเป็นของที่ระลึก ตกแต่งบ้าน ตกแต่งสวน ในราคาย่อมเยา ซึ่งปัจจุบันมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทั้งรูปแบบร่วมสมัย การทำสีลวดลายให้ใช้ประโยชน์ได้อย่างหลากหลายยิ่งขึ้น รวมถึงนักท่องเที่ยวสามารถเยี่ยมชมกระบวนการผลิตได้อย่างใกล้ชิดในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การผลิตแบบโบราณที่ปั้นด้วยแป้นหมุนมือและเผาด้วยเตาโบราณ จนถึงกรรมวิธีสมัยใหม่ นอกจากนี้ ยังมีการส่งขายทั่วไทย รวมทั้งส่งออกต่างประเทศอย่างสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นอีกด้วย ทั้งนี้ ที่ผ่านมาชุมชนบ้านมอญ ได้รับการสนับสนุนจากศูนย์ดีพร้อมเซ็นเตอร์ 3 (DIPROM CENTER 3) ในการส่งเสริมและพัฒนาการยกระดับหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ดีพร้อมสู่การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน การถ่ายทอดความรู้ด้านกระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking Process) รวมทั้งเทคโนโลยี ซึ่งช่วยลดการสูญเสียในกระบวนการผลิตได้ถึง 20% นอกจากนี้ อธิบดีดีพร้อมและคณะยังได้เยี่ยมชมศูนย์วัฒนธรรมไทยดำและรับฟังสรุปภาพรวมผลการดำเนินงานของศูนย์ฯ รวมถึงความต้องการของศูนย์ดังกล่าว พร้อมทั้งมอบหมายให้ดีพร้อมเซ็นเตอร์ 3 เร่งหาแนวทางการส่งเสริมและพัฒนาเพื่อยกระดับศักยภาพและเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวต่อไป ### PRDIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน /ภาพข่าว
09 พ.ค. 2022
“ดีพร้อม” ลุยฝึกอาชีพระยะสั้น สร้างอาชีพ-รายได้ชาวปากน้ำโพ คาดฟื้นเศรษฐกิจฐานรากและสร้างรายได้เสริมเพิ่มขึ้นกว่า 5 เท่า
จ.นครสวรรค์ 8 พฤษภาคม 2565 - นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจําสํานักนายกรัฐมนตรี ให้เกียรติเป็นประธานพิธีเปิดและแถลงข่าวโครงการ “DIPROM ยกระดับสินค้าชุมชน กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก นำสู่รายได้คืนถิ่นชุมชน” ในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ ร่วมด้วย นายใบน้อย สุวรรณชาตรี ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นางสาวชุติพร เสชัง รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ คณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ดีพร้อม (DIPROM) ผู้แทนชุมชนและประชาชนในพื้นที่จำนวนกว่า 500 คน โดยมี ดร.ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวรายงานถึงวัตถุประสงค์ของโครงการดังกล่าว ณ ห้องประชุมเทศบาลนครนครสวรรค์ ชั้น 5 อําเภอเมืองนครสวรรค์ ดีพร้อม เดินหน้าต่อเนื่องตามนโยบายดีพร้อมแคร์ (DIPROM CARE) รุดสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานรากทุกพื้นที่ทั่วไทยให้ดีพร้อม ซึ่งมุ่งเน้นการปรับรูปแบบการดำเนินการให้สอดคล้องกับสภาพชุมชน (C-Customization) รวมทั้งปฏิรูปแนวทางการดำเนินงาน (R-Reformation) ด้วยการถ่ายทอดองค์ความรู้แก่ผู้ประกอบการและชุมชนในทุกมิติ ทั้งในด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การขยายช่องทางจัดจำหน่ายสินค้าทั้งออฟไลน์และออนไลน์ ตลอดจนการให้คำปรึกษาด้านการวางแผนเส้นทางท่องเที่ยวให้กับชุมชน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างรายได้แก่ชุมชนให้ดียิ่งขึ้น อีกทั้ง ยังเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากให้มีความเข้มแข็งยิ่งขึ้น ภายใต้ โครงการ “DIPROM ยกระดับสินค้าชุมชน กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก นำสู่รายได้คืนถิ่นชุมชน” โดยการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการพัฒนาสินค้าและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ชุมชน เสริมทักษะการผลิตและเพิ่มประสิทธิภาพทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการและชุมชนในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งได้ดำเนินการผ่านการจัดฝึกอบรมอาชีพระยะสั้น ซึ่งมีผู้สนใจเข้าร่วมจำนวน 500 คน โดยคาดว่าจะสามารถฟื้นเศรษฐกิจฐานรากและสร้างรายได้เสริมให้ชุมชนบ้านมอญเพิ่มขึ้นกว่า 5 เท่า ขณะเดียวกัน ดีพร้อมยังมีแนวทางที่จะมีความร่วมมือกับทาง กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (กทบ.) อย่างต่อเนื่องในการส่งเสริมและสนับสนุนชุมชนในระดับภูมิภาคมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ดีพร้อมได้มีการพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ ดังนี้ 1) การพัฒนาหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ดีพร้อม (DIPROM CIV) โดยได้พัฒนาชุมชน เครื่องปั้นดินเผาบ้านมอญและชุมชนบ้านปากคลองเกยไชย ซึ่งทั้ง 2 ชุมชนนี้ได้ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) นอกจากนี้ ยังได้พัฒนาชุมชนบ้านเขาแหลม โดยนําจุดแข็งด้านวัฒนธรรม วิถีชีวิต และภูมิปัญญาของชุมชนมาสร้างเป็นอัตลักษณ์ของพื้นที่และเชื่อมโยงสู่ภาคการผลิตและการท่องเที่ยว 2) การยกระดับคุณภาพและมาตรฐานผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชนพื้นที่สู่การยอมรับของตลาดเป้าหมาย โดยการพัฒนากลุ่มเกษตรกรผู้แปรรูปและผู้จัดจําหน่ายในห่วงโซ่สมุนไพรของพื้นที่ จํานวน 150 คน และได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่จากสมุนไพรฟ้าทะลายโจรและสมุนไพรท้องถิ่น จํานวน 5 ผลิตภัณฑ์ และ 3) การยกระดับศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมเพื่อขับเคลื่อนวิสาหกิจชุมชนสู่ความ ยั่งยืน (ITC– ชุมชน) โดยยกระดับกระบวนการผลิตสู่อุตสาหกรรมศักยภาพ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปฝรั่งอบแห้งให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนฝรั่งอินทรีย์ นอกจากนี้ ดีพร้อม ยังได้ร่วมมือกับกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง (กทบ.) ดําเนินโครงการ “กสอ“ คิด ”กทบ“ ช่วยธุรกิจชุมชน เรียนแล้ว สร้างได้ ขายเป็น” ด้วยการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ OTOP ต่อยอดมาตรการฟื้นฟูอุตสาหกรรมไทย เน้นการพัฒนาทักษะการทําตลาดแบบ E – commerce พร้อมพัฒนาผู้เชี่ยวชาญประจําท้องถิ่นให้มีองค์ความรู้และสามารถเป็นพี่เลี้ยงในแต่ละชุมชนได้อย่างมีประสิทธิผลต่อไป ### PRDIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
09 พ.ค. 2022
“แม่ทัพณัฐพล” ลงพื้นปากน้ำโพ ตรวจความพร้อมพื้นที่เตรียมจัดงาน DIPROM ยกระดับสินค้าชุมชน กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก นำสู่รายได้คืนถิ่นชุมชน
จ.นครสวรรค์ 7 พฤษภาคม 2565 - ดร.ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม พร้อมด้วย นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ดีพร้อม (DIPROM) ลงพื้นที่ตรวจความพร้อมการจัดเตรียมงานแถลงข่าวและพิธีเปิดโครงการ “DIPROM ยกระดับสินค้าชุมชน กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก นำสู่รายได้คืนถิ่นชุมชน” ในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 8 พฤษภาคม 2565 ณ ห้องประชุมเทศบาลนครนครสวรรค์ ชั้น 5 อําเภอเมืองนครสวรรค์ ### PRDIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
09 พ.ค. 2022
“อธิบดีณัฐพล” ลงพื้นที่เมืองชาละวัน หนุนสร้างอาชีพให้ชุมชน รองรับแรงงานกลับถิ่น พร้อมชูผลิตภัณฑ์ GI และต้นแบบหมู่บ้าน DIPROM CIV ตั้งเป้าดันเศรษฐกิจฐานรากเต็มสูบ
จ.พิจิตร 7 พฤษภาคม 2565 - ดร.ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานและแถลงข่าว พิธีเปิดโครงการ “DIPROM ยกระดับสินค้าชุมชน กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก นำสู่รายได้คืนถิ่นชุมชน” ในพื้นที่จังหวัดพิจิตร ร่วมด้วย นายใบน้อย สุวรรณชาตรี ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม นายธวัชชัย เลี้ยงประเสริฐ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร คณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ดีพร้อม (DIPROM) ผู้แทนชุมชนและประชาชนในพื้นที่จำนวนกว่า 200 คนโดยมี นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวรายงานถึงวัตถุประสงค์ของโครงการดังกล่าว ณ วัดทับปรูพัฒนาราม ตําบลทับหมัน อําเภอตะพานหิน ดีพร้อม (DIPROM) เดินหน้าต่อเนื่องตามนโยบายดีพร้อมแคร์ (DIPROM CARE)ในการส่งเสริม ฝึกอาชีพและพัฒนาทักษะการประกอบอาชีพให้แก่ชุมชน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างรายได้แก่ชุมชนให้ดียิ่งขึ้น อีกทั้ง ยังเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากให้มีความเข้มแข็งยิ่งขึ้น ภายใต้ โครงการ “DIPROM ยกระดับสินค้าชุมชน กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก นำสู่รายได้คืนถิ่นชุมชน” โดยการจัดกิจกรรมถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการพัฒนาสินค้าชุมชน สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ เสริมทักษะการผลิต และเพิ่มประสิทธิภาพทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการและชุมชนในพื้นที่จังหวัดพิจิตร ซึ่งได้ดำเนินการผ่านการจัดฝึกอบรมอาชีพระยะสั้น ด้วยการสร้างอาชีพจากผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นนำมาต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ เพื่อสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนในพื้นที่และสร้างอาชีพให้กับแรงงานกลับถิ่น ประกอบด้วย การสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์สมุนไพรท้องถิ่น การทําไม้กวาดดอกหญ้า การทําไม้กวาดทางมะพร้าว ซึ่งมีผู้สนใจเข้าร่วมจำนวน 200 คน ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ดีพร้อมได้มีการพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจท้องถิ่นในพื้นที่จังหวัดพิจิตร โดยการส่งเสริมการขอรับการขึ้นทะเบียนสินค้าบ่งชี้ ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications) หรือสินค้า GI ให้กับผลิตภัณฑ์หลักของจังหวัด ได้แก่ 1) ส้มโอท่าข่อยเมืองพิจิตร ซึ่งดีพร้อมได้สร้างระบบควบคุมภายใน เพื่อเพิ่มมูลค่าให้สินค้าและเป็นการอนุรักษ์พันธุ์ส้มโอท่าข่อยไว้ 2) ข้าวขาวกอเดียวพิจิตร หรือ ข้าวขาวกอเดียว 35 ได้รับการผลักดันให้เป็น สินค้า GI อีกประเภทหนึ่ง ปลูกได้เฉพาะในพื้นที่จังหวัดพิจิตรเท่านั้นโดยมีการพัฒนาผ่านการรวมกลุ่ม SMEs และเชื่อมโยงอุตสาหกรรมข้าวคนอินทรีย์ จํานวน 13 ราย นอกจากนี้ ดีพร้อม ยังได้เข้าไปพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ดีพร้อม หรือ หมู่บ้าน DIPROM CIV คือ ชุมชนบ้านวังกรด ผ่านการให้ความรู้ตามแนวทางการสร้างความเข้าใจด้านการบริหารจัดการท่องเที่ยวชุมชน การจัดเส้นทางเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวชุมชน การต้อนรับนักท่องเที่ยว และช่องทางการจัดการตลาดออฟไลน์และออนไลน์ เพื่อให้ชุมชนมีช่องทางการตลาดและรายได้เพิ่มขึ้นส่งผลให้หมู่บ้านวังกรดมีมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 500,000 บาทต่อปี รวมถึงการเข้าไปช่วยเกษตรกรสมาชิกในการพัฒนาทักษะการผลิตผลิตภัณฑ์และการสร้างรายได้ให้กับชุมชน โดยการให้องค์ความรู้และการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตทางการเกษตรของพื้นที่อีกด้วย ### PRDIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
09 พ.ค. 2022
“ดีพร้อม” ผนึกกำลัง “ซีพี ออลล์” รุกช่วยผู้ประกอบการรายย่อยสู่ตลาดโมเดิร์นเทรด ตอบโจทย์เทรนด์การค้าทุกมิติ
กรุงเทพฯ 5 พฤษภาคม 2565 - ดร.ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และนายยุทธศักดิ์ ภูมิสุรกุล รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ให้เกียรติเปิดงานและแถลงความร่วมมือ กิจกรรม DIPROM move to Modern Trade ร่วมด้วย ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ ดีพร้อม ผู้บริหารบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) คณะอาจารย์สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ และสื่อมวลชนเข้าร่วมงานดังกล่าว ณ ห้อง B 105 ชั้น B1 อาคาร THE TARA บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ถนนแจ้งวัฒนะ อธิบดีณัฐพลฯ กล่าวถึง ความร่วมมือของ DIPROM move to Modern Trade เป็นความร่วมมือระหว่าง ดีพร้อม (DIPROM) หรือ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กับ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ดำเนินงานภายใต้ นโยบาย “DIPROM CARE : ดีพร้อมแคร์” ในการขยายพันธมิตรภาคธุรกิจ (E-Engagement) เพื่อสนับสนุนและช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ในด้านต่าง ๆ รวมทั้งขยายช่องทางการตลาดและเพิ่มโอกาสในการจัดจำหน่ายสินค้าสู่ Modern Trade ตลอดจนการสร้างเครือข่ายการพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรมให้เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น นายยุทธศักดิ์ฯ กล่าวถึง ความร่วมมือดังกล่าวจากเซเว่น อีเลฟเว่นและเซเว่น เดลิเวอรี่ เพื่อส่งเสริม สนับสนุน และต่อยอดให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและวิสาหกิจชุมชนที่มีศักยภาพให้เข้าสู่ตลาดค้าปลีกสมัยใหม่ หรือ Modern Trade ได้อย่างแข็งแกร่ง อันเป็นส่วนหนึ่งที่จะมาช่วยกระตุ้นบริบททั้งเชิงเศรษฐกิจและสังคม นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและวิสาหกิจชุมชนได้มีโอกาสวางจำหน่ายสินค้าผ่านช่องทางร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ทั้งช่องทางออนไลน์ที่ ALL ONLINE บน 7 App และช่องทางออฟไลน์ภายในร้านสะดวกซื้อเซเว่น อีเลฟเว่น ที่มีอยู่กว่า 10,000 สาขาทั่วประเทศ ซึ่งจะทำให้ธุรกิจของผู้ประกอบการมีโอกาสเติบโตสามารถขยายฐานผู้บริโภค อีกทั้ง ยังเป็นการยกระดับผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐาน ตรงตามความต้องการตลาด พร้อมทั้งส่งเสริมผู้ประกอบการให้เข้าใจตลาดที่เปลี่ยนแปลงด้วยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้สร้างความแตกต่างและสร้างมูลค่าให้กับสินค้า รวมถึงเปิดมุมมองการตลาดดิจิทัล (Digital Marketing) การจัดทำโปรโมชัน เพื่อส่งเสริมการขายซึ่งเป็นเรื่องสำคัญของธุรกิจในยุคปัจจุบัน ตลอดจนเรียนรู้การธุรกิจด้วยกลยุทธ์ใหม่ ๆ โดยคาดว่าโครงการนำร่องในความร่วมมือกันครั้งนี้จะมีผู้ประกอบการได้รับการส่งเสริมเข้าสู่ตลาดโมเดิร์นเทรดมากกว่า 25 ธุรกิจ ### PRDIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพ
05 พ.ค. 2022