ดีพร้อม เดินหน้า “DIPROM Regional Academy” ปีที่ 2 ปรับบทบาทดีพร้อมเซ็นเตอร์สู่การเป็นหน่วยงานวิชาการ
กรุงเทพฯ 13 มิถุนายน 2565 - ดร.ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานพิธีปิดการอบรมหลักสูตรต่อเนื่อง “การพัฒนาบุคลากรดีพร้อมระดับภูมิภาคสู่การเป็นหน่วยงานวิชาการ ปีที่ 2” หรือ “DIPROM Regional Academy #2” ร่วมด้วย นายภาสกร ชัยรัตน์ นายเจตนิพิฐ รอดภัย และ นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ดีพร้อม (DIPROM) โดยมี นางสุชาดา โพธิ์เจริญ ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และแผนงาน กล่าวรายงาน ผ่านระบบออนไลน์ทางแอปพลิเคชั่น Zoom meeting การอบรม “DIPROM Regional Academy” เป็นการดำเนินงานต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ภายใต้กิจกรรมศึกษาและพัฒนาระบบส่งเสริมอุตสาหกรรม เพื่อปรับบทบาทภารกิจของศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาค หรือ DIPROM CENTER ทั้ง 12 หน่วยงาน ให้เป็นหน่วยงานวิชาการ ในการเสนอความเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ และจัดทำแผนพัฒนา ส่งเสริมอุตสาหกรรมและวิสาหกิจระดับภูมิภาค ผ่านการประสานงานกับภาครัฐ-เอกชน ทั้งหน่วยงานท้องถิ่น หน่วยงานส่วนกลาง สถาบันการศึกษา เพื่อให้ได้ข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือ เพื่อนำมาวิเคราะห์ ให้ได้มาซึ่งแนวทางการพัฒนาส่งเสริมผู้ประกอบการให้เหมาะสมและสอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่ โดยได้รับการสนับสนุนและถ่ายทอดองค์ความรู้แนวทางในการจัดทำแผนพัฒนาฯ จากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ท่านนิสากร จึงเจริญธรรม อดีตอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ และจากหน่วยงานภาคีเครือข่าย ต่าง ๆ จนเกิดสมรรถนะ ในด้านต่าง ๆ ได้แก่ 1. นโยบาย ยุทธศาสตร์ แนวทางการพัฒนาภาค และการประเมินศักยภาพวิสาหกิจอุตสาหกรรม 2. การวางแผนกลยุทธ์ด้วย Foresight การตัดสินใจเชิงกลยุทธ์เพื่อกำหนดภาพในอนาคต และการวางแผนเชิงกลยุทธ์ และ 3. การพัฒนาทักษะในการจัดทำแผนพัฒนา ส่งเสริมอุตสาหกรรมและวิสาหกิจระดับภูมิภาคทั้งในเชิงทฤษฎีและฝึกปฏิบัติ จนนำมาสู่การนำเสนอ (ร่าง) แผนพัฒนา ส่งเสริมอุตสาหกรรมและวิสาหกิจระดับภูมิภาค พ.ศ. 2566 - 2570 ของทั้ง 5 ภูมิภาค ซึ่งเป็นกิจกรรมสุดท้ายของการอบรมในครั้งนี้ เพื่อนำไปต่อยอดในการจัดทำแผนพัฒนาฯ ให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์และสามารถนำไปใช้ได้จริง เกิดการสร้างสรรค์กิจกรรม/โครงการที่สอดรับกับความต้องการของพื้นที่ การขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรม และการกระจายการพัฒนาไปในพื้นที่ภูมิภาคอย่างทั่วถึงและครอบคลุม ### PRDIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
14 มิ.ย. 2022
ดีพร้อม ปั้นบุคลากรนักตลาดออนไลน์ รุ่นที่ 2 เสริมศักยภาพพร้อมรับการให้บริการ ผปก.ไทย ยุคดิจิทัล
กรุงเทพฯ 13 มิถุนายน 2565 - ดร.ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานพิธีปิดกิจกรรมการฝึกอบรมหลักสูตร “การพัฒนาบุคลากร กสอ. สู่การเป็นนักส่งเสริมการตลาดออนไลน์ (DIProm Online Marketeer) รุ่นที่ 2” พร้อมทั้งประกาศผลรางวัลและกล่าวแสดงความยินดีแก่เจ้าหน้าที่ดีพร้อม (DIPROM) ที่เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว ร่วมด้วย นายภาสกร ชัยรัตน์ และนายเจตนิพิฐ รอดภัย รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ดีพร้อม โดยมี นางสุชาดา โพธิ์เจริญ ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และแผนงาน กล่าวรายงาน ผ่านระบบออนไลน์ทางแอปพลิเคชั่น Zoom meeting การฝึกอบรมหลักสูตรดังกล่าวฯ ได้จัดต่อเนื่องเป็นรุ่นที่ 2 เพื่อสนับสนุนให้บุคลากรของดีพร้อมมีทักษะในด้านการส่งเสริมการตลาดที่สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป โดยมุ่งเน้นพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะในการเป็น “นักส่งเสริมการตลาดออนไลน์” เพื่อขับเคลื่อนและเป็นพลังช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและวิสาหกิจชุมชนด้านการตลาด พร้อมทั้งสนับสนุนการจำหน่ายสินค้าอย่างมีประสิทธิภาพด้วยการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมเชิงสร้างสรรค์ในการนำสินค้าของผู้ประกอบการมาดำเนินการส่งเสริมการตลาดผ่านระบบออนไลน์และสื่อโซเชียล โดยมีเจ้าหน้าที่ดีพร้อมจากส่วนภูมิภาคทั้ง 12 หน่วยงาน เข้าร่วมอบรมในครั้งนี้ จำนวน 61 คน เพื่อเรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติจริงตลอดหลักสูตรดังกล่าว ซึ่งทำให้เกิดการเรียนรู้ในเรื่องการตลาด การสร้าง Content การถ่ายภาพ และจัดทำ VDO ตลอดจนถึงการ LIVE สด ผ่าน Facebook LIVE เพื่อทดสอบตลาดโดยตรงกับกลุ่มผู้บริโภคในปัจจุบัน ทั้งนี้ ผลจากการจัดกิจกรรมพัฒนาบุคลากรของดีพร้อมดังกล่าว ส่งผลให้มีจำนวนยอดผู้เข้าถึงใน Facebook Page : DIPROM Station ของดีพร้อม จากเดิมร้อยละ 450.3 จำนวนยอดขายของผู้ประกอบการที่เข้าร่วมหลักสูตรเพิ่มขึ้น 673,503 บาท หรือคิดเป็นร้อยละ 15 ภายในระยะเวลาเพียง 2 เดือน และเกิดความคุ่มค่าของหลักสูตรคิดเป็น 5.2 เท่า เมื่อเทียบกับงบประมาณของการดำเนินโครงการ รวมถึงบุคลากรของดีพร้อมที่เข้าร่วมอบรมในครั้งนี้มีความรู้ด้านการตลาดเพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ 37.6 ตลอดจนเกิดการสร้างเครือข่ายระหว่างหน่วยงานภายในดีพร้อม รวมทั้งประชาสัมพันธ์ DIPROM CENTER สามารถสร้างการรับรู้ให้บุคคลภายนอกได้เข้าถึงกิจกรรมของดีพร้อมมากขึ้นอีกด้วย และในโอกาสนี้ อธิบดีดีพร้อม ได้ให้เกียรติกล่าวปิดและแสดงความยินดีแก่เจ้าหน้าที่ดีพร้อม พร้อมทั้งประกาศผลรางวัลต่าง ๆ ประกอบด้วย รางวัล Best Sales แบ่งออกเป็น 2 ด้าน ดังนี้ 1.1 ด้านเปอร์เซ็นยอดขายที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ 1)ดีพร้อมเซ็นเตอร์ 4 2)ดีพร้อมเซ็นเตอร์ 9 และ 3)ดีพร้อมเซ็นเตอร์ 10 1.2 ด้านมูลค่ายอดขายที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ 1)ดีพร้อมเซ็นเตอร์ 7 2)ดีพร้อมเซ็นเตอร์ 8 และ 3)ดีพร้อมเซ็นเตอร์ 11 รางวัล Poppular Vote ได้แก่ 1)ดีพร้อมเซ็นเตอร์ 6 2)ดีพร้อมเซ็นเตอร์ 1 และ 3)ดีพร้อมเซ็นเตอร์ 11 รางวัล TOP VIEWER ได้แก่ 1)ดีพร้อมเซ็นเตอร์ 2 2)ดีพร้อมเซ็นเตอร์ 1 และ 3)ดีพร้อมเซ็นเตอร์ 3 รางวัลชนะเลิศสุดยอดนักส่งเสริมการตลาดออนไลน์ ได้แก่ 1)ดีพร้อมเซ็นเตอร์ 2 2)ดีพร้อมเซ็นเตอร์ 1 และ 3)ดีพร้อมเซ็นเตอร์ 7 และ 5. รางวัลพิเศษ สุดยอดกลุ่มนักเรียนดีเด่น ได้แก่ 1)ดีพร้อมเซ็นเตอร์ 1 2)ดีพร้อมเซ็นเตอร์ 3 3)ดีพร้อมเซ็นเตอร์ 6 4)ดีพร้อมเซ็นเตอร์ 7 และ 5)ดีพร้อมเซ็นเตอร์ 11 ### PRDIProm (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
13 มิ.ย. 2022
รสอ.ณัฏฐิญาฯ นำทีมคณะที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิภาคราชการ จับมือ Basecamp24 ร่วมกับ STeP บ่มเพาะสตาร์ทอัพ
จ.เชียงใหม่ 10 มิถุนายน 2565 - นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นำคณะที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิภาคราชการ ร่วมหารือความร่วมมือการบ่มเพาะสตาร์ทอัพ Basecamp24 ร่วมกับ STeP โดยมี นายพงศ์โพยม วาศภูติ อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ อดีตปลัดกระทรวงคมนาคม นางธนาภรณ์ พรมสุวรรณ อดีตอธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ นางชุติมา หาญเผชิญ รองเลขาธิการ ก.พ. พร้อมผู้บริหารส่วนราชการกว่า 40 หน่วยงาน เข้าร่วมและเยี่ยมชมพร้อมรับฟังการบรรยายสรุป ร่วมด้วย นายสุรพล ปลื้มใจ ผู้อำนวยการศูนย์ดีพร้อมเซ็นเตอร์ 1 (DIPROM CENTER 1) นางเกษสุดา ดอนเมือง นักวิเคราะห์นโยบายและแผนเชี่ยวชาญ กองพัฒนาอุตสาหกรรมชุมชม คณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ดีพร้อม DIPROM (ดีพร้อม) ร่วมลงพื้นที่ ณ อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (STeP : Science and Technology Park) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กิจกรรมในครั้งนี้ เป็นการหารือความร่วมมือในส่วนงานวิชาการภายในของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อเป็นสะพานแห่งการสร้างนวัตกรรม (Bridge for Innovation) ก้าวข้ามความท้าทาย (Valley of Challenge) และทำให้เกิดการสร้างระบบนิเวศนวัตกรรม (Innovation Ecosystem) นำไปสู่การยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฐานนวัตกรรม (Innovation-based Economy) ของภาคเหนือ เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันของภูมิภาค และการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ในการนี้ รสอ.ณัฏฐิญาฯ ได้นำคณะที่ปรึกษาฯ ร่วมหารือกับ ผศ.ดร.ธัญญานุภาพ อานันทนะ ผู้อำนวยการ STeP ซึ่ง DIPROM ได้ตอบรับในการให้ความร่วมมือระหว่าง Basecamp24 กับ STeP กล่าวคือ การสร้างผู้ประกอบการที่มีศักยภาพและพร้อมผลักดันผู้ประกอบการให้เติบโตอย่างยั่งยืน โดยมีพี่เลี้ยงนำทางในทุกเส้นทางการเติบโตแบบ 24 ชั่วโมง เพื่อไปสู่เป้าหมายสูงสุดอย่างรวดเร็ว ด้วยกระบวนการบ่มเพาะ พัฒนาศักยภาพ ทำให้เหล่านักธุรกิจได้ลงมือทำจริง ผ่านการอบรมสร้างองค์ความรู้ ให้คำปรึกษาโดยผู้เชี่ยวชาญ การจับคู่กับแหล่งทุน สร้างเครือข่ายธุรกิจ โดยจัดแบ่ง Basecamp ดังนี้ Ground camp : Wonderer จะเน้นเรื่องการสร้างแรงจูงใจและสร้างความตระหนักในการเป็นผู้ประกอบการ Camp 1 : Bootstrapper เน้นให้องค์ความรู้เพื่อสร้างความเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurship) Camp 2 : Explorer เน้นกระบวนการลงมือทำเพื่อเรียนรู้การทำธุรกิจตามวิถีของ Startup เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาวิจัยและพัฒนาสินค้าหรือบริการให้สามารถขายได้จริง Camp 3 : Challenger เน้นเรื่องการขยายตลาด (Scale up) หลังจากพิสูจน์แล้วใน Camp 2 โดยจะเน้นกระบวนการวางแผนธุรกิจและกลยุทธ์ Camp 4 : Survivor ซึ่งจะเน้นในเรื่องของการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นการหานักลงทุน การเจรจาร่วมลงทุน (Partner) กับบริษัทหรือองค์กรต่างๆ ที่จะสามารถสนับสนุนธุรกิจให้เติบโตได้อย่างก้าวกระโดดและเป็นธุรกิจที่ยั่งยืนต่อไป นอกจากนี้ ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง DIPROM ซึ่งได้เชื่อมโยงและผสานการทำงานระหว่าง STeP กับภาคอุตสาหกรรม ภาคเอกชน หน่วยงานภาครัฐ และภาคประชาชนสังคม บนพื้นฐานของการนำทรัพยากรที่มีอยู่ในมหาวิทยาลัย คือ ผลงานวิจัย นักวิจัย และเครื่องมือวิจัย ในความร่วมมือต่างๆ ได้แก่ 1. การใช้ประโยชน์และสร้างคุณค่าในรูปแบบของการผลักดันองค์ความรู้/งานวิจัยให้เกิดการใช้งานเชิงพาณิชย์ (Research Commercialization) 2. การสร้างธุรกิจเทคสตาร์ทอัพ (Tech Startup) 3. การส่งเสริมธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม (Innovation Driven Enterprise) การทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มในองค์รวม (Total Value Creation) 4. การพัฒนาชุมชนและสังคมอย่างยั่งยืนโดยการบูรณาการองค์ความรู้ งานวิจัย และเทคโนโลยีของ STeP ทั้งนี้ ภายใต้ความร่วมมือได้ตั้งเป้าในการเป็นหน่วยบ่มเพาะแนวหน้ามีศักยภาพในการสร้างผู้ประกอบการ Startup ผ่านกระบวนการการเชื่อมโยงโอกาสต่าง ๆ ไปพร้อมกับการสร้างระบบนิเวศ (Startup Ecosystem) ที่เอื้อให้ผู้ประกอบการ Startup ในพื้นที่ภาคเหนือที่อยู่ในระบบได้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างมีศักยภาพและยั่งยืน โดยนำองค์ความรู้จากรั้วมหาวิทยาลัยสู่การสร้างผู้ประกอบการที่สามารถสร้างมูลค่าทางธุรกิจให้เติบโตอย่างก้าวกระโดด ### PRDIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
13 มิ.ย. 2022
รสอ.ณัฏฐิญาฯ ลงพื้นที่ DIPROM CIV ชุมชนออนใต้ พร้อมคณะที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิภาคราชการ
จ.เชียงใหม่ 10 มิถุนายน 2565 - นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นำคณะที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิภาคราชการลงพื้นที่ ประกอบด้วย นายพงศ์โพยม วาศภูติ อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ อดีตปลัดกระทรวงคมนาคม นางธนาภรณ์ พรมสุวรรณ อดีตอธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ นางชุติมา หาญเผชิญ รองเลขาธิการ ก.พ. พร้อมผู้บริหารส่วนราชการกว่า 40 หน่วยงาน เข้าเยี่ยมชม หมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ดีพร้อม (DIPROM CIV) ชุมชนออนใต้ พร้อมรับฟังการบรรยายสรุป โดยมีนายภิญโญ วิสัย และนางสาวฉัตรรุ่ง ประกอบไวทยกิจ ผู้นำชุมชน พร้อมทั้งนายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลออนใต้ และกำนันตำบลออนใต้ ให้การต้อนรับ ร่วมด้วย นายสุรพล ปลื้มใจ ผู้อำนวยการศูนย์ดีพร้อมเซ็นเตอร์ 1 (DIPROM CENTER 1) นางเกษสุดา ดอนเมือง นักวิเคราะห์นโยบายและแผนเชี่ยวชาญ กองพัฒนาอุตสาหกรรมชุมชม คณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ดีพร้อม DIPROM (ดีพร้อม) ร่วมลงพื้นที่ ณ หมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ดีพร้อม (DIPROM CIV) ชุมชนออนใต้ อ.สันกำแพง ดีพร้อม ได้ดำเนินการโครงการสร้างสรรค์อุตสาหกรรมเชิงวัฒนธรรม การพัฒนาหมู่บ้านอุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์ดีพร้อม (DIPROM Creative Industry Village : DIPROM CIV) ภายใต้แนวคิดในการดำเนินงาน คือ การน้อมนำแนวพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เรื่องการมุ่งเน้นพัฒนาคน มุ่งพัฒนาเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้คนและครอบครัวในชุมชนให้มีความพร้อมที่จะรับการพัฒนาเสียก่อน แล้วจึงค่อยออกมาสู่สังคมภายนอก เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับชุมชนเพื่อรองรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการตามยุทธศาสตร์ชาติ ภายใต้โครงการดังกล่าว ดีพร้อม จึงได้ส่งเสริมการดำเนินกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้เพื่อให้สอดคล้องตรงกับความต้องการของชุมชนและบรรลุตามวัตถุประสงค์ของการเป็นชุมชนท่องเที่ยว ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณเพื่อเติมเต็มให้กับชุมชน ผ่านกิจกรรม/โครงการของหน่วยงานส่วนกลาง โดยกองพัฒนาอุตสาหกรรมชุมชน และ DIPROM CENTER 1 อาทิ พัฒนาศักยภาพหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ดีพร้อม ที่มุ่งเน้นการพัฒนาเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจจากสินค้าและบริการของชุมชน ดึงความเป็นอัตลักษณ์ของชุมชนเป็นสิ่งดึงดูดในการท่องเที่ยว เตรียมความพร้อมการบริหารจัดการกลุ่มทั้งแผนการดำเนินงานด้านการท่องเที่ยวของชุมชน ทั้งระยะสั้นและระยะยาว เตรียมความพร้อมด้านที่พักโฮมเสตย์ของชุมชนให้ได้มาตรฐานและมีความปลอดภัยสำหรับนักท่องเที่ยว พัฒนาผู้ประกอบการร้านค้าให้มีความสะอาด ใช้หลักการรสชาติอาหารนำการท่องเที่ยว พัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวภายในชุมชน พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวทั้ง 11 หมู่บ้าน ป้ายบอกเส้นทาง แผนที่การท่องเที่ยว เมื่อพัฒนาภายในชุมชนแล้ว จึงได้มีการประชาสัมพันธ์ชุมชนผ่านช่องทางต่าง ๆ อาทิ เพจชุมชนออนใต้หมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ การจัดกิจกรรมเพื่อเปิดตัวชุมชน โดยการเชิญสื่อมวลชนท้องถิ่นและหน่วยงานเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชนในการเยี่ยมชมชุมชน การออกบูธประชาสัมพันธ์ทริปการท่องเที่ยวในงานการท่องเที่ยวไทย ตลอดจนการออกบูธจำหน่ายสินค้าชุมชนล่าสุดในงาน OTOP Midyear 2022 นอกจากการที่ได้รับการส่งเสริม สนับสนุนและพัฒนาจากดีพร้อมแล้ว และรวมถึงหน่วยงานภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา ที่เกี่ยวข้อง ที่ได้บูรณาการการทำงานร่วมกันเพื่อยกระดับและพัฒนาศักยภาพของชุมชน ส่งผลให้ชุมชนได้รับการรับรองมาตรฐานและรางวัลจากหน่วยงานต่าง ๆ เป็นเครื่องหมายรับรองในการพัฒนาชุมชนและผู้ประกอบการ ได้แก่ CIV Five Star โดยดีพร้อม มาตรฐาน มอก.เอส โดย สมอ. มาตรฐาน SHA โดยกระทรวงสาธารณสุข และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย มาตรฐาน Q Resturant โดยกรมส่งเสริมการเกษตร ชุมชนต้องเที่ยว โดย ธ.ก.ส. และ COVID free setting กระทรวงสาธารณสุข ### PRDIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
13 มิ.ย. 2022
รสอ.ณัฏฐิญาฯ และคณะที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิภาคราชการ ร่วมเยี่ยมชม ChiangMai Celadon เครื่องเคลือบศิลาดลเชียงใหม่
จ.เชียงใหม่ 10 มิถุนายน 2565 - นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นำคณะที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิภาคราชการลงพื้นที่ ประกอบด้วย นายพงศ์โพยม วาศภูติ อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ อดีตปลัดกระทรวงคมนาคม นางธนาภรณ์ พรมสุวรรณ อดีตอธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ นางชุติมา หาญเผชิญ รองเลขาธิการ ก.พ. พร้อมผู้บริหารส่วนราชการกว่า 40 หน่วยงาน เข้าเยี่ยมชมเครื่องปั้นดินเผาเคลือบเซลาดอน (Celadon) พร้อมรับฟังการบรรยายสรุป โดยมี คุณทัศนี ยะจา เจ้าของกิจการ ให้การต้อนรับ ร่วมด้วย นายสุรพล ปลื้มใจ ผู้อำนวยการศูนย์ดีพร้อมเซ็นเตอร์ 1 (DIPROM CENTER 1) นางเกษสุดา ดอนเมือง นักวิเคราะห์นโยบายและแผนเชี่ยวชาญ กองพัฒนาอุตสาหกรรมชุมชม คณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ดีพร้อม DIPROM (ดีพร้อม) ร่วมลงพื้นที่ ณ ห้างหุ้นส่วนจำกัด เชียงใหม่เซลาดอน (2015) ต.ป่าป้อง อ.ดอยสะเก็ด การลงพื้นที่ในครั้งนี้ ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกับ คุณทัศนี ยะจา เจ้าของกิจการ ซึ่งจำหน่ายเครื่องเคลือบศิลาดลเชียงใหม่ หรือ เครื่องเคลือบเซลาดอน (Celadon) ภายใต้แบรนด์ ChiangMai Celadon ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ศิลาดลประเภทเครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร ของตกแต่งบ้าน ของขวัญและของที่ระลึก โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นนักท่องเที่ยวทั่วโลกที่มาท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงใหม่ และกลุ่มลูกค้าชาวไทยที่มีรสนิยมในการใช้ชีวิต ชื่นชอบวัฒนธรรมศิลาดลเชียงใหม่และผลิตภัณฑ์ที่บ่งบอกถึงวัฒนธรรมไทย ซึ่งทาง ChiangMai Celadon ได้เข้าร่วมกิจกรรมของ ดีพร้อม ดำเนินการโดย DIPROM CENTER 1 ประกอบด้วย 1) พัฒนาผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์โดยใช้ทุนทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาล้านนา ภายใต้การพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมโดยใช้ทุนทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญา มารังสรรค์รูปแบบผลิตภัณฑ์ออกมาอย่างมีเสน่ห์ด้วยการ แกะ ขูด เขียน และนำมาเคลือบให้เป็นชุดน้ำชา “อยู่ดีมีสุข”ด้วยแนวคิดของนักออกแบบที่อยากจะสื่อสารอัตลักษณ์ความเป็นไทยสู่สากล โดยสีเคลือบปรับเป็นสีน้าเงินเพื่อสร้างมิติ และเนื้อสัมผัสให้แก่ตัวหนังสือ 2) พัฒนานักออกแบบเพื่อผู้ประกอบการ (Design Savvy) ภายใต้การยกระดับการผลิตสินค้ากลุ่มของฝากของที่ระลึกเชิงสร้างสรรค์ 3) ออกแบบสินค้าในกลุ่ม Gift & Lifestyle ให้ตรงกับความต้องการของตลาดเป้าหมาย (Tailor-made Gift & Lifestyle for Product Desing) ภายใต้การยกระดับการผลิตสินค้ากลุ่มของฝากของที่ระลึกเชิงสร้างสรรค์ 4) ยกระดับผลิตภัณฑ์ด้วยนวัตกรรมเชิงสร้างสรรค์ (Chaing Mai Creative Innovation Product) ภายใต้การยกระดับเชียงใหม่ด้วยนวัตกรรม เชิงสร้างสรรค์ (Chaing Mai Creative Innovation) ทั้งนี้ เครื่องปั้นดินเผาเคลือบเซลาดอน (Celadon) ซึ่งเดิมใช้เรียกทับศัพท์ ส่วนชื่อเรียกของไทยเรียกว่าเครื่องสังคโลก เมื่อมีการทำเครื่องปั้นดินเผาสังคโลก เคลือบเซลาดอนเกิดขึ้น จึงได้ใช้ชื่อว่า “ศิลาดล” ในจังหวัดเชียงใหม่ ปัจจุบันมีการจดผลิตภัณฑ์เป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ "GI ศิลาดลเชียงใหม่ คิดถึงศิลาดล คิดถึงจังหวัดเชียงใหม่" เป็นผลิตภัณฑ์ ประเภทสโตนแวร์ (Stoneware) ที่ได้เคลือบขี้เถ้าพืชผสมกับดินผิวหน้านา เมื่อเผาแล้ว ผลิตภัณฑ์ที่ได้จะออกเป็นสีเขียว แบบเซลาดอน มีความสวยงาม และคลาสสิคในตัวเอง ### PRDIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
13 มิ.ย. 2022
รสอ.ณัฏฐิญาฯ นำทีมคณะที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิภาคราชการ พาชม Big Brother ดีพร้อม The Coffeenery ศูนย์เรียนรู้กาแฟพานาคอฟฟี่
จ.เชียงใหม่ 10 มิถุนายน 2565 - นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นำคณะที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิภาคราชการลงพื้นที่ประกอบด้วย นายพงศ์โพยม วาศภูติ อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ อดีตปลัดกระทรวงคมนาคม นางธนาภรณ์ พรมสุวรรณ อดีตอธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ นางชุติมา หาญเผชิญ รองเลขาธิการ ก.พ. พร้อมผู้บริหารส่วนราชการกว่า 40 หน่วยงาน เข้าเยี่ยมชมพร้อมรับฟังการบรรยายสรุป ณ The Coffeenery ศูนย์เรียนรู้กาแฟพานาคอฟฟี่ โดยมี นายพีระ พนาสุภน ประธานกรรมการบริษัทฯ และนายคมพิชญ์ พนาสุภน รองประธานกรรมการให้การต้อนรับ ร่วมด้วย นายสุรพล ปลื้มใจ ผู้อำนวยการศูนย์ดีพร้อมเซ็นเตอร์ 1 (DIPROM Center 1) นางเกษสุดา ดอนเมือง นักวิเคราะห์นโยบายและแผนเชี่ยวชาญ กองพัฒนาอุตสาหกรรมชุมชม คณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ดีพร้อม DIPROM (ดีพร้อม) ร่วมลงพื้นที่ ณ บริษัท พานาคอฟฟี่ จำกัด อ.ดอยสะเก็ด บริษัทฯ ดังกล่าวได้มุ่งเน้นการศึกษาเรื่องกาแฟ หรือ Coffee Education เป็นสำคัญ มีศูนย์เรียนรู้เรื่องกาแฟ ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง ไปจนถึงปลายทาง ส่งมอบองค์ความรู้และประสบการณ์ให้กับบุคลากรด้านกาแฟ เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับวงการกาแฟของไทย โดยบริษัท พานาคอฟฟี่ จำกัด ได้ให้ความร่วมมือกับ ดีพร้อม ในฐานะ Big Brother เพื่อมาถ่ายทอดความรู้ และที่สำคัญที่สุดคือการถ่ายทอดความรู้ เทคนิคต่างๆ ให้กับผู้ประกอบการ SMEs ภายใต้การให้บริการของดีพร้อมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการประกอบการทางด้านอุตสาหกรรมกาแฟ เสมือนเป็นพี่ช่วยน้อง นอกจากนี้ ยังให้คำปรึกษาแนะนำและเป็นพี่เลี้ยง สนับสนุนข้อมูลและการบริหารจัดการศูนย์พัฒนากาแฟไทย : DIPROM THAI COFFEE CENTER ที่ตั้งอยู่ที่ศูนย์ดีพร้อมเซ็นเตอร์ 1 สำหรับ The Coffeenery มีแผนการดำเนินงานสอดรับกับภารกิจหลักขององค์กร คือ มุ่งพัฒนากาแฟไทยให้ได้มาตรฐานสากล และนำกาแฟไทยไปสู่กาแฟโลก โดยมีการริเริ่ม คิดค้น สร้างสรรค์ และพัฒนามาตรฐาน Farm Management System ภายใต้ชื่อโครงการ “กาแฟดูแลป่า” ที่ผลักดันให้เกษตรกรและผู้ประกอบการด้านกาแฟมีโอกาสได้เข้ามาเรียนรู้การเพิ่มผลผลิตกาแฟออร์แกนิก ที่ผ่านการรับรองมาตรฐานสากล Organic USDA และ EU ซึ่งกระบวนการกลางทาง อันได้แก่ การแปรรูป การคั่ว และการบรรจุ ด้วยเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ภายใต้แนวคิดโรงงานสีเขียว “Green Factory” ซึ่งทุก ๆ ขั้นตอนได้ผ่านการรับรองมาตรฐานสากลด้าน Food Safety ISO22000, FSSC22000, HACCP และ HALAL เพื่อให้ได้เมล็ดกาแฟที่มีคุณภาพ นอกจากนี้ The Coffeenery ยังได้ลงทุนนำเข้าเครื่องจักรประสิทธิภาพสูง อาทิ เครื่องสีกะลาและเครื่องขัดผิว Silver Skin ในกระบวนการแปรรูปกาแฟกะลา เพื่อลดปัจจัยข้างเคียงที่อาจส่งผลเสียต่อรสชาติกาแฟ รวมถึงการใช้ระบบ N2 Flush หรือเครื่องอบไนโตรเจนเพื่อช่วยกำจัดมอดแบบปลอดสารเคมี และเครื่องคัดขนาด น้ำาหนัก และคัดแยกสี เพื่อให้ได้เมล็ดกาแฟสารที่มีคุณภาพมากที่สุด ตลอดจนบุคลากรในโรงงานที่ต้องผ่านการตรวจสุขภาพและความปลอดภัยสูงสุด อีกทั้งยังครอบคลุมถึงขั้นตอนการตรวจสอบกระบวนการผลิตและการชิมรสชาติกาแฟด้วย Technical Report โดย Q Grader ที่ผ่านการรับรองจากสถาบันระดับโลก การสานต่อมายังปลายทาง โดยผ่านสถาบันกาแฟ The Coffeenery ที่มีความพร้อมในด้านสถานที่ เครื่องมือ อุปกรณ์ และบุคลากรทางด้านกาแฟ มีหลักสูตรเรียนรู้กาแฟตามมาตรฐานสากล (International Standard) ที่ได้รับการรับรองจากสถาบัน SCA และ CQI เปิดหลักสูตรการแปรรูปกาแฟ การชง การชิม การคั่ว และหลักสูตรบาริสต้า ทั้งในระดับต้น กลาง และขั้นสูง นอกจากนี้ ยังมีหลักสูตรชมการสาธิตแบบมีส่วนร่วม พร้อมรับใบประกาศนียบัตรรับรองจากศูนย์เรียนรู้กาแฟ ซึ่งนักท่องเที่ยว สามารถชมการสาธิต สัมผัสประสบการณ์การชงกาแฟ และการชิมกาแฟในรูปแบบต่าง ๆ ได้อีกทั้ง ยังมีผลิตภัณฑ์กาแฟแบรนด์ “SOD Coffee” ที่ภูมิใจนำเสนอกาแฟออร์แกนิกคุณภาพมาตรฐานระดับสากลในรูปแบบของกาแฟคั่วเมล็ด (Roasted Coffee Bean) และกาแฟดริป (Drip Bag Coffee) โดยมีแผนเดินหน้าขยายการตลาดไปยังกลุ่มประเทศ ยุโรป ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เป็นต้น และมีความพร้อมในการเป็นผู้ผลิตกาแฟที่มีคุณภาพและมาตรฐานสากลในระบบของ OEM ### PRDIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
13 มิ.ย. 2022
“อธิบดีณัฐพล” ลั่นกลองรบเปิดตัว “ปลูกปั้น DIPROM Franchise ครั้งที่ 2” หวังยกระดับนักธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรม พร้อมปั้น 30 แฟรนไชส์
กรุงเทพฯ 11 มิถุนายน 2565 - ดร.ณัฐพล รังสิตพล ให้เกียรติเป็นประธานเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการ “ปลูกปั้น DIPROM Franchise ครั้งที่ 2” ภายใต้ กิจกรรมยกระดับนักธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรม ปั้น 30 แฟรนไชส์ ร่วมด้วย ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ดีพร้อม(DIPROM) และผู้ประกอบการที่เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ ณ ห้องประชุม ชั้น 6 อาคารกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (DIPROM Headquarter) และถ่ายทอดสด (Facebook. Live) ในรูปแบบออนไลน์ผ่านทาง Facebook fan page กองพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม สำหรับปลูกปั้น DIPROM Franchise ครั้งที่ 2 จัดขึ้นภายใต้ กิจกรรมยกระดับนักธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรม ปั้น 30 แฟรนไชส์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการธุรกิจของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี ให้มีความสามารถในการแข่งขันด้วยการเสริมสร้างองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการธุรกิจแฟรนไชส์และเครือข่ายกิจการธุรกิจเกษตร รวมถึงการยกระดับและสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ธุรกิจเกษตร โดยก้าวเข้าสู่การสร้างแฟรนไชส์เกษตรให้เป็นระบบ ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมาย ประกอบด้วย ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดย่อม (Small) หรือวิสาหกิจขนาดกลาง (Medium) และ/ หรือ ผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนในกลุ่มภาคเกษตรอุตสาหกรรม ภาคอุตสาหกรรมแปรรูปเกษตร หรืออุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร หรืออุตสาหกรรมต่อยอดซัพพลายเชนโดยมีผู้สนใจสมัครเข้าร่วม และผ่านการคัดเลือกร่วมเข้าอบรมทั้งสิ้น 56 ราย ซึ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปอุตสาหกรรมอาหารแปรรูป อุตสาหกรรมเครื่องสำอาง ธุรกิจเกษตร เกษตรแปรรูป และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะได้รับคำแนะนำการพัฒนารูปแบบธุรกิจแฟรนไชส์ จากผู้เชี่ยวชาญที่มีองค์ความรู้ในสาขาวิชาต่าง ๆ ช่วยให้สามาถขยายธุรกิจได้อย่างเป็นระบบ เพื่อยกระดับขีดความสามารถการแข่งขัน สร้างการเติบโตครั้งใหม่ให้กับธุรกิจ โดยเน้นการให้ความรู้เรื่องการบริหารร้าน การคำนวณต้นทุน การทำการตลาด การขยายสาขา และการสร้างคู่มือบริหารแฟรนไชส์อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งมีหลักสูตรผสมผสานทั้งออนไลน์และออฟไลน์ จำนวน 6 ครั้ง ประกอบด้วย การปรับพื้นฐานการทำธุรกิจแฟรนไซส์ Operation Management Product Franchise Management การสร้างแฟรนไชส์ การทำธุรกิจแฟรนไชส์อย่างถูกต้อง สอนเขียนแผนธุรกิจในรูปแบบแฟรนไชส์ การทำการตลาดออนไลน์ออฟไลน์ให้แฟรนไชส์ขายดี การปิดการขายฉับไวในการออกบูธ การเลือกซื้อแฟรนไชส์ให้ตรงกับความสามารถของเรา สร้างภาพจำ ออกแบบร้านค้าน่าเข้าน่าเดิน เพิ่มยอดขาย และหัวใจของหลักสูตรคือ “การเขียน Manual แฟรนไชส์” เพื่อเสริมสร้างความรู้และยกระดับนักธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรม ปั้นธุรกิจจากเอสเอ็มอีขยายตลาดสู่การเป็น “แฟรนไชส์” อย่างเป็นระบบจนสามารถจัดทำคู่มือแฟรนไชส์ธุรกิจเกษตรของตนเอง นำไปต่อยอดธุรกิจให้เติบโตอย่างมั่นคงต่อไป ### PRDIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
13 มิ.ย. 2022
“อธิบดีณัฐพล” นั่งหัวโต๊ะพิจารณาสรุปผลการคัดเลือกรางวัลอุตฯ ยอดเยี่ยม ปี 65
กรุงเทพฯ 8 มิถุนายน 2565 - ดร.ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานการประชุมคณะทำงานพิจารณาคัดเลือกรางวัลอุตสาหกรรมยอดเยี่ยม ประจำปี พ.ศ. 2565 พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ดีพร้อม (DIPROM) ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 3 อาคารกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (DIPROM Headquarter) การประชุมครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อให้คณะทำงานได้พิจารณาสรุปผลการตรวจประเมินสถานประกอบการที่สมัครเข้ารับคัดเลือกรางวัลอุตสาหกรรมยอดเยี่ยม ประจำปี พ.ศ. 2565 และพิจารณา คุณสมบัติ และเกณฑ์การคัดเลือกฯ เพื่อใช้พิจารณาคัดเลือกรางวัลอุตสาหกรรมยอดเยี่ยม ประจำปี พ.ศ. 2566 ต่อไป ### PRDIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
09 มิ.ย. 2022
ผนึก 2 ยักษ์ “อธิบดีณัฐพล” จับมือ “CEO อรรถพล ปตท.” ปั้นไบโอพลาสติกสู่เชิงพาณิชย์ ผลิตงานวิจัยใช้กากกัญชง ตั้งธง BCG
กรุงเทพฯ 6 มิถุนายน 2565 - ดร.ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และนายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท. ให้เกียรติร่วมเป็นประธานสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การขับเคลื่อนการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมพืชกัญชงสู่เชิงพาณิชย์ ระหว่าง ดีพร้อม (DIPROM) และ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC โดยมี นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และนายวริทธิ์ นามวงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์เคมีมูลค่าเพิ่ม บริษัท GC เป็นผู้แทนลงนามความร่วมมือดังกล่าว ณ ห้องประชุมใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) สำนักงานใหญ่ ถนนวิภาวดีรังสิต การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการขับเคลื่อนการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมพืชกัญชงสู่เชิงพาณิชย์ เป็นความร่วมมือระหว่าง ดีพร้อม (DIPROM) และ บริษัท GC ในการผนึกกำลังความร่วมมือกันเพื่อบูรณาการการขับเคลื่อนเศรษฐกิจบีซีจี (BCG Economy Model) ตามนโยบายของรัฐบาลสู่การปฏิบัติ โดยการต่อยอดการวิจัยพัฒนาสูตรการผลิตพลาสติกชีวภาพจากพืชกัญชงในเชิงพาณิชย์สู่เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) ด้วยการนำผลงานวิจัยไปต่อยอดเพื่อเพิ่มมูลค่าสู่การนำไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ได้อย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ ยังเป็นการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ร่วมกับพันธมิตรภาคเอกชนอีกทางหนึ่ง รวมทั้งเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนผลงานวิจัยไปสู่การนำไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ ตลอดจนการเชื่อมโยงการตลาดและการประชาสัมพันธ์การใช้ประโยชน์จากพลาสติกชีวภาพในเครือข่ายพันธมิตรของดีพร้อมและบริษัทในเครือ ปตท. ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาภาคอุตสาหกรรมของประเทศ สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ ดีพร้อม จะรับบทบาทในการจัดหาเส้นใยกัญชงเพื่อเป็นวัสดุในการวิจัย พร้อมส่งเสริมการเข้าถึงสำหรับธุรกิจที่สนใจ เพื่อเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพของไทย นอกจากนี้ ยังมีการขยายผลไปสู่การพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการในด้านการบริหารการผลิต การแปรรูป รวมทั้งการใช้ประโยชน์จากเส้นใยสั้น หรือเส้นใยชีวภาพที่เหลือทิ้ง ซึ่งมีเฉลี่ยไร่ละประมาณ 400 กิโลกรัม โดยปัจจุบันมีการขออนุญาต เพาะปลูกจำนวนกว่า 631.9 ไร่ ปลูกได้กว่า 2 รอบต่อปี ซึ่งมีเส้นใยเหลือเป็นขยะในภาคอุตสาหกรรมกว่า 505,400 กิโลกรัมต่อปี ซึ่งถือเป็นการเพิ่มมูลค่าวัสดุและลดปริมาณขยะในภาคอุตสาหกรรมสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) โดยปัจจุบันพบว่าการประกอบการในภาคอุตสาหกรรม มีปริมาณกากอุตสาหกรรมชนิดไม่อันตรายเกิดขึ้น จำนวนมากกว่า 17 ล้านตันต่อปี ซึ่งต้องใช้ทรัพยากรเป็นจำนวนมากในการดูแลและกำจัด หนึ่งในนั้น คือ ขยะพลาสติกที่มีจำนวน 4.8 ล้านตันต่อปีที่จะมีแนวโน้มเพิ่มปริมาณมากขึ้น ทั้งนี้ การผนึกความร่วมมือดังกล่าว ยังเป็นการเดินหน้านโยบายดีพร้อมแคร์ (DIPROM CARE) ด้วยการออกแบบงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่เหมาะสม พร้อมทั้งแก้ปัญหาได้ตรงจุดให้กับอุตสาหกรรมพืชกัญชงและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง (C-Customization) อีกทั้ง ยังช่วยภาคเกษตรอุตสาหกรรมในการจัดหาวัตถุดิบในเชิงพื้นที่ และขยายช่องทางการเข้าถึงสำหรับภาคอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพของไทย (A-Accessibility) พร้อมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ให้กับผู้ประกอบการซึ่งต้องปรับเปลี่ยนการผลิตให้สอดคล้องกับบริบทใหม่ของการดำเนินธุรกิจ (R-Reformation) ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสู่เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ตลอดจนมีการเชื่อมโยงพันธมิตรเพื่อยกระดับการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพ (E-Engagement) สะท้อนผลลัพธ์ไปสู่ศักยภาพของผู้ประกอบการในการต่อยอดอุตสาหกรรมเชิงพาณิชย์ โดยอาศัยความเชี่ยวชาญเฉพาะของแต่ละหน่วยงาน ผนวกกับประสบการณ์ในการส่งเสริมผู้ประกอบการ เพื่อขับเคลื่อนความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมต่อไป ### PR.DIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
07 มิ.ย. 2022
มท.1 เปิดบูธแรก “ชุมชน DIPROM “ พันธมิตรจัดงาน OTOP MIDYEAR 2022 ชมอธิบดีณัฐพล เปลี่ยนวิถีใหม่ ปรุง 7 วิธี ปั้นชุมชนดีพร้อม ร่วมซักซ้อมฝึกอาชีพระยะสั้น คัดสรรสุดยอดผลิตภัณฑ์ชุมชน เร่งเครื่องยนต์ฐานราก กระตุ้นตลาดกลางปี
จ.นนทบุรี 5 มิถุนายน 2565 - ดร.ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ร่วมเปิดงาน OTOP Midyear 2022 โดยมี พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ให้เกียรติเป็นประธานในการเปิดงานในครั้งนี้ ร่วมด้วยนายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และคณะเอกอัครราชทูต ร่วมในงาน พร้อมกันนี้ อธิบดีณัฐพล ยังได้เรียนเชิญผู้บริหารส่วนราชการร่วมเยี่ยมชมบูธ “ชุมชน DIPROM” อาทิ นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี นายจุลพงษ์ ทวีศรี รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และคณะผู้บริหารระดับสูงจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเครือข่ายพันธมิตรร่วมเยี่ยมชมบูธ นอกจากนี้ ดีพร้อม ได้นำผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนเข้าร่วมงานกว่า 52 ราย เพื่อส่งเสริมการตลาด และช่องทางการจำหน่ายสินค้า ณ เวทีกลาง อาคารชาเลนเจอร์ 2 ศูนย์การแสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี อำเภอปากเกร็ด งาน OTOP MIDYEAR 2022 จัดขึ้นโดย กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ภายใต้แนวคิด "สุขช้อป สุขใจ สุขทั่วไทย รวมไว้ในที่เดียว" ซึ่งเป็นการจัดงานแสดงและจำหน่ายสินค้าโอทอปจากการขยายผลโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ในการยกระดับผลิตภัณฑ์โอทอป รวมทั้งเป็นการส่งเสริมการตลาดสินค้าโอทอปและกระตุ้นเศรษฐกิจกลางปีของประเทศ ตลอดจนเป็นการบรรเทาผลกระทบของผู้ผลิตและผู้ประกอบการโอทอปจากวิกฤติการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยการเพิ่มช่องทางในการระบายสินค้าโอทอปและผลิตภัณฑ์ของชุมชน นอกจากนี้ ยังเป็นการทดสอบตลาดและเพิ่มช่องทางในการจำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์โอทอป นับเป็นการสร้างรายได้ให้กับชุมชน รวมถึงเป็นการสร้างโอกาสในการเรียนรู้และเพิ่มทักษะในการจัดแสดงและจำหน่ายสินค้าให้กับผู้ผลิต ผู้ประกอบการสินค้าโอทอปและอาหารชวนชิมตามนโยบายของรัฐบาล ตลอดจนการสร้างการเรียนรู้แนวทางในการพัฒนาผลิตภัณฑ์โอทอปแก่ผู้ประกอบการให้สอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มลูกค้าที่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยภายในงานมีกิจกรรมที่มีความหลากหลายแปลกใหม่ ประกอบด้วย 6 ส่วน ดังนี้ 1) การจัดแสดงนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 2) นิทรรศการกิจกรรมและการจำหน่ายสินค้าจากหน่วยงานภาคีทั้งภาครัฐและเอกชนที่ขับเคลื่อนโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ร่วมกัน 3) การจัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์โอทอปมากกว่า 2,000 บูธ 4) โอทอปชวนชิมกว่า 160 ร้านค้า 5) โอทอปเทรดเดอร์ ประเทศไทยและโอทอปเทรดเดอร์ จังหวัด เป็นการแสดงช่องทางการตลาดสินค้าโอทอปทั้งในและต่างประเทศ 6) กิจกรรมไฮไลต์ของงาน อาทิ โซนการจัดแสดงชุมชนท่องเที่ยวและผลิตภัณฑ์ในหมู่บ้านโอทอปนวัตวิถีจาก 4 ภาค โซนการจัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากศิลปิน OTOP ที่สืบทอดภูมิปัญญาจากรุ่นสู่รุ่น โซนเฟิร์สเลดี้ เป็นการจัดแสดงผ้าที่มีอัตลักษณ์และเอกลักษณ์ของแต่ละจังหวัด และกิจกรรมส่งเสริมการขายมากมาย ระหว่างวันที่ 4 - 12 มิถุนายน 2565 ตั้งแต่ เวลา 10.00 - 21.00 น. ณ อาคารชาเลนเจอร์ 1 - 3 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี ทั้งนี้ คาดว่าการจัดงานครั้งนี้จะเป็นโอกาสสำคัญในการสร้างรายได้กลับสู่ชุมชนฐานราก เพื่อช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศมีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนตลอดไป ขณะเดียวกัน ดีพร้อม (DIPROM) ในฐานะภาคีเครือข่ายที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากและโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ร่วมกัน ได้เข้าร่วมในการจัดงานในครั้งนี้ ภายใต้แนวคิด “OTOP Midyear ฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย รวมใจสร้างชาติ” โดยแบ่งออกเป็น 3 โซน ดังนี้ โซนที่ 1 การจัดแสดงนิทรรศการแสดงผลงานการส่งเสริม พัฒนา และสนับสนุนผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนของดีพร้อมและจําหน่ายผลิตภัณฑ์ OTOP ภายใต้แนวคิด “ชุมชน DIPROM” ประกอบด้วย 7 ขั้นตอน ได้แก่ 1) แผนชุมชนดีพร้อม 2) คนชุมชนดีพร้อม 3) การผลิตชุมชนดีพร้อม 4) แบรนด์ชุมชนดีพร้อม 5) ตลาดชุมชนดีพร้อม 6) ผลิตภัณฑ์ชุมชนดีพร้อม และ 7) เงินทุนหมุนเวียนดีพร้อม ซึ่งเป็นการยกระดับการส่งเสริมพัฒนาวิสาหกิจชุมชนในระยะถัดไป รวมถึงการจัดแสดงและจำหน่ายสินค้าโอทอป เพื่อส่งเสริมการตลาดให้กับผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนที่ได้รับการสนับสนุนจากดีพร้อม จำนวน 52 ราย ประกอบด้วย อาหารและเครื่องดื่ม จำนวน 3 บูธ สมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร จำนวน 2 บูธ ผ้าและเครื่องแต่งกาย 34 บูธ และของใช้ ของตกแต่ง และของที่ระลึก จำนวน 13 บูธ ซึ่งคาดว่าตลอด 9 วันของการจัดงานในครั้งนี้จะสามารถสร้างยอดขายให้กับผู้ประกอบการ/วิสาหกิจชุมชนของดีพร้อม อันเป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้ชุมชนอย่างยั่งยืน โซนที่ 2 กิจกรรม DIY (Do It Yourself) การถ่ายทอดความรู้ด้านความคิดสร้างสรรค์และการประดิษฐ์สิ่งของเครื่องใช้จากวัสดุเหลือใช้และวัสดุอื่น ๆ โซนที่ 3 การประชาสัมพันธ์แนวทางการดําเนินงานและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP ของกระทรวงอุตสาหกรรม รวมถึงบูธของโครงการเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการส่งเสริมอาชีพอุตสาหกรรมในครอบครัวและหัตถกรรมไทย เพื่อให้บริการคำปรึกษาแนะนำในด้านการเงินแก่ผู้ประกอบการภายในงานนี้ ตลอดจนบูธของศูนย์สนับสนุนและช่วยเหลือเอสเอ็มอี (SME Support & Rescue Center: SSRC) สำหรับบริการให้คำปรึกษาแนะนำแก่ผู้ประกอบธุรกิจอีกด้วย ### PR.DIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์สำนักงานเลขานุการกรมกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
06 มิ.ย. 2022