อธิบดีณัฐพล” นำทีมดีพร้อมเดินหน้าต่อเนื่องเสริมทักษะ สร้างอาชีพดีพร้อมทั่วประเทศ อีก 75 จุด พัฒนาประชาชนในพื้นที่กว่า 15,000 ราย
จ.พิจิตร 28 สิงหาคม 2565 - ดร.ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม พร้อมด้วย นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ดีพร้อม (DIPROM) ลงพื้นที่ช่วยประชาชน เสริมทักษะ สร้างอาชีพดีพร้อม ผ่านโครงการพัฒนาอาชีพเสริม เพิ่มรายได้ให้ชุมชนดีพร้อม หรือ อาชีพดีพร้อม ต่อเนื่องอีก 75 จุดทั่วประเทศ
โครงการอาชีพดีพร้อม เป็นการพัฒนาอาชีพเสริม เพื่อมุ่งช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่คนในพื้นที่ชุมชน ผ่านรูปแบบหลักสูตรการพัฒนา 4 หลักสูตรหลัก ๆ ได้แก่ หลักสูตรที่ 1 กิจกรรมพัฒนาทักษะอาชีพพื้นฐานด้านการผลิต หลักสูตรที่ 2 กิจกรรมพัฒนาทักษะอาชีพพื้นฐานด้านการบริการ หลักสูตรที่ 3 กิจกรรมพัฒนาด้านผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ และหลักสูตรที่ 4 กิจกรรมพัฒนาต่อยอดทักษะที่จำเป็นต่อการประกอบธุรกิจ โดยการลงพื้นที่ครั้งนี้ ดีพร้อมได้ถ่ายทอดองค์ความรู้ในส่วนของกิจกรรมพัฒนาทักษะอาชีพพื้นฐานด้านการผลิตที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตและความต้องการของประชาชนในพื้นที่ โดยแบ่งออกเป็น 2 หมวด คือ หมวดที่ 1 ลดรายจ่าย ได้แก่ การทำน้ำยาล้างจานและการทำสบู่เหลว และหมวดที่ 2 เพิ่มรายได้ ได้แก่ การสกรีนกระเป๋าผ้า และ การทำเหรียญโปรยทาน ซึ่งเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะช่วยลดค่าครองชีพให้กับครอบครัว รวมถึงสามารถสร้างรายได้และอาชีพเสริมเพิ่มความรู้และทักษะการประกอบการธุรกิจให้กับชุมชน ซึ่งจะสามารถช่วยยกระดับศักยภาพชุมชน เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ และอาชีพในชุมชน อันจะส่งผลให้เศรษฐกิจฐานรากเติบโตและมีความเข้มแข็งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน
สำหรับในวันนี้ ดีพร้อม ก็ได้เดินหน้าต่อเนื่องในการจัดกิจกรรมพัฒนาทักษะอาชีพพื้นฐานด้านการผลิตให้กับประชนกว่า 15,000 ราย ทั่วประเทศในพื้นที่ 23 จังหวัด 75 จุด ได้แก่ จ.เชียงใหม่ 1 จุด จ.พิจิตร 5 จุด จ.สุโขทัย 4 จุด จ.นครสวรรค์ 6 จุด กรุงเทพมหานคร 2 จุด จ. ลพบุรี 2 จุด จ.สมุทรปราการ 2 จุด จ.สมุทรสาคร 5 จุด จ.ชัยภูมิ 3 จุด จ.อุดรธานี 6 จุด จ.บึงกาฬ 2 จุด จ.ศรีสะเกษ 2 จุด จ.อำนาจเจริญ 1 จุด จ.ตราด 1 จุด จ.ระยอง 2 จุด จ.ชลบุรี 8 จุด จ.ราชบุรี 2 จุด จ.เพชรบุรี 1 จุด จ.ประจวบคีรีขันธ์ 1 จุด จ.ตรัง 8 จุด จ.ระนอง 2 จุด จ.ภูเก็ต 2 จุด จ.พัทลุง 7 จุด
ทั้งนี้ โครงการพัฒนาอาชีพเสริมฯ ได้รับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 งบกลาง กรอบวงเงิน 1,249 ล้านบาท เพื่อดำเนินการเพิ่มทักษะและรายได้ให้ชุมชนกว่า 400 แห่ง ครอบคลุมทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ซึ่งตั้งเป้าในการพัฒนาประชาชนกว่า 700,000 ราย และคาดว่าจะเกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 12,000 ล้านบาท ### PRDIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
29
ส.ค
2022