ดีพร้อม ผนึกกำลัง พม. ฝึก "อาชีพดีพร้อม" ยกระดับคุณภาพชีวิตให้กลุ่มเปราะบาง โดยร่วมมือกับกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว
กรุงเทพฯ 25 กันยายน 2565 - ดร.ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม พร้อมด้วย นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นางสาวสุนีย์ ศรีสง่าตระกูลเลิศ รองอธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) นางสาวประเทือง พฤกษาพิทักษ์กุล เลขานุการกรม นายวุฒิชัย ประชาพร ผู้อํานวยการกองพัฒนาขีดความสามารถธุรกิจอุตสาหกรรม คณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ดีพร้อม (DIPROM) โดยมี นางอ้อยทิพย์ โต๊ะหมัดและ ผู้อำนวยการสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านเกร็ดตระการ กรุงเทพมหานคร ให้การต้อนรับ ณ สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านเกร็ดตระการกรุงเทพมหานคร ลาดพร้าว
กิจกรรมครั้งนี้ เป็นความร่วมมือระหว่างดีพร้อม และกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เพื่อเปิดโอกาสให้กับกลุ่มเด็ก สตรี หรือแม่เลี้ยงเดี่ยว ผู้ที่ประสบปัญหาทางสังคม ขาดโอกาสทางการศึกษา เครือข่ายชุมชน ตลอดจนผู้ที่สนใจ ให้มีความรู้และทักษะในการประกอบอาชีพ ให้สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตและพึ่งพาตนเองได้ โดยกิจกรรมวันนี้มีผู้เข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 200 ราย โดยทั้งหมดได้รับถ่ายทอดองค์ความรู้ในส่วนของการพัฒนาทักษะอาชีพพื้นฐานด้านการผลิตที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตโดยแบ่งออกเป็น 2 หมวด คือ 1. ลดรายจ่าย ได้แก่ การทำน้ำยาล้างจานและการทำสบู่เหลว และ 2. เพิ่มรายได้ ได้แก่ การสกรีนกระเป๋าผ้าและการทำของชำร่วย โครงการอาชีพดีพร้อม เป็นการพัฒนาทักษะอาชีพเสริม เพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่ชุมชนในพื้นที่ต่าง ๆ ผ่านรูปแบบการพัฒนา 4 หลักสูตรหลัก ได้แก่ 1) พัฒนาทักษะอาชีพพื้นฐานด้านการผลิต 2) พัฒนาทักษะอาชีพพื้นฐานด้านการบริการ 3) พัฒนาด้านผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ และ 4) พัฒนาต่อยอดทักษะที่จำเป็นต่อการประกอบธุรกิจ นับเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่จะช่วยลดค่าครองชีพให้กับครอบครัว รวมถึงสามารถสร้างรายได้และอาชีพเสริม ตลอดจนเพิ่มความรู้และทักษะการประกอบการธุรกิจให้กับชุมชน อันจะสามารถช่วยยกระดับศักยภาพชุมชน เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ และอาชีพในชุมชน รวมทั้งส่งผลให้เศรษฐกิจฐานรากเติบโตและมีความเข้มแข็งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน
ทั้งนี้ โครงการอาชีพดีพร้อม ได้รับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 งบกลาง กรอบวงเงิน 1,249 ล้านบาท เพื่อดำเนินการเพิ่มทักษะและรายได้ให้ชุมชนกว่า 400 แห่ง ครอบคลุมทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ซึ่งตั้งเป้าพัฒนาประชาชนกว่า 700,000 ราย และคาดว่าจะเกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 12,000 ล้านบาท ### PRDIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
26
ก.ย.
2022