"ดีพร้อม" จัดประชุมวิพากษ์ประเมินผลงานปี 65 พร้อมกำหนดทิศทางการส่งเสริมและพัฒนา SME ในอนาคต
กรุงเทพฯ 30 พฤศจิกายน 2565 - นายใบน้อย สุวรรณชาตรี อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานการประชุมวิพากษ์รายงานการประเมินผลการดำเนินงาน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 และประเมินความคุ้มค่าการดำเนินโครงการและกิจกรรมของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ร่วมด้วย นายภาสกร ชัยรัตน์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ดีพร้อมจากส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เข้าร่วมประชุมดังกล่าว ณ โรงแรมเรเนซองส์ ราชประสงค์ และในรูปแบบออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชัน Zoom Meeting
การประชุมในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอการประเมินผลการดำเนินงานทั้งในเชิงบวกและเชิงลบต่อผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ดีพร้อม เพื่อการปรับปรุงพัฒนาการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้น ผ่านการติดตามและประเมินผลรวมถึงการประเมินผลสัมฤทธิ์การทำงานในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 อันสะท้อนถึงผลการดำเนินงาน ตั้งแต่ปัจจัยนำเข้า (Input) กระบวนการ (Process) ผลลัพธ์ (Outcome) และผลกระทบ (Impact) ทั้งในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ ในทุกโครงการ/กิจกรรมของดีพร้อม ทั้งการให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึก การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การสร้างเครือข่ายและการฝึกอบรม รวมถึงการจัดกิจกรรมต่าง ๆ โดยได้ติดตามจากโครงการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 จำนวน 3,084 ตัวอย่าง ประเมินผลจำนวน 6,829 ตัวอย่าง และประเมินความคุ้มค่าจากโครงการประจำปีงบประมาณ 2564 จำนวน 800 ตัวอย่าง ซึ่งผลประเมินดังกล่าวทำให้เห็นถึงทิศทางการส่งเสริมและพัฒนาให้กับผู้ประกอบการในอนาคต ได้แก่ 1. การสร้างความชัดเจน กลุ่มที่มุ่งเน้นเฉพาะ (อุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต ธุรกิจเกษตร BCG/อุตสาหกรรมความปลอดภัย/ชีวมวล อุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพ) และกลุ่มที่การพัฒนาส่งเสริมวงกว้าง (การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การส่งเสริมมาตรฐาน การเพิ่มมูลค่า ความยั่งยืน) 2. ศึกษาเป้าหมายการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ ตลอดจนแผนการพัฒนาส่งเสริมในบทบาทของดีพร้อม ในแต่ละอุตสาหกรรม 3. ปรับการส่งเสริมโดยใช้การตลาดอันเป็นจุดแข็งภายใต้บทบาทภารกิจของดีพร้อม เพื่อสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการ ยกระดับมาตรฐาน และให้ตลาดนำการพัฒนา 4. พิจารณารูปแบบ กลไกการส่งเสริมผู้ประกอบการอื่น เช่น การสนับสนุนผู้ประกอบการรายเล็กให้พร้อมสนับสนุนตอบโจทย์ผู้ประกอบการรายใหญ่ มุ่งพัฒนาในอุตสาหกรรมที่ห่วงโซ่เชื่อมโยงกับเอสเอ็มอีจำนวนมากตลอดจนบริหารความเสี่ยงด้านวัตถุดิบและลดการนำเข้าจากต่างประเทศ 5. การวางกลไกให้เกิดประสิทธิภาพของการขับเคลื่อนในเชิงพื้นที่ โดยการมีบทบาทร่วมกับจังหวัด สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด และการพัฒนาพื้นที่ 6. การวางกลไกการส่งเสริมที่จะเชื่อมโยงและเป็นประโยชน์กับอุตสาหกรรมโดยการสร้างเครือข่าย พันธมิตร หรือ Business Matching) กระตุ้นให้มีรายใหม่เพิ่มขึ้นเพื่อเอื้อกับอุตสาหกรรม 7. ปรับการส่งเสริมพัฒนาผลิตภัณฑ์ และบรรจุภัณฑ์ โดยมุ่งคุณภาพ คุณค่า เน้นการพัฒนาเพื่อสร้างโอกาส 8. การร่วมยกระดับการพัฒนาระบบนิเวศน์ที่เอื้อต่อการส่งเสริมพัฒนาเอสเอ็มอี ส่งเสริมการใช้กลไกการส่งเสริมอื่น และพัฒนางานบริการ 9. การส่งเสริมยกระดับธุรกิจเกษตร และ 10. การส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยดีพร้อมจะนำข้อมูลดังกล่าวไปปรับปรุงแผนการดำเนินโครงการและกิจกรรม ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์และนโยบายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องและรองรับกับสถานการณ์ในปัจจุบัน เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ### PR.DIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
01
ธ.ค.
2022