"เอกนัฏ" นำทีม "ดีพร้อม" ผนึกกำลัง "จังหวัดโทคุชิมะ" ลงนามความร่วมมือ ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยุคใหม่ ผลักดันเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่นโตอย่างยั่งยืน
กรุงเทพฯ 31 ตุลาคม 2567 – นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานในงานพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding: MOU) ระหว่าง กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) และจังหวัดโทคุชิมะ ประเทศญี่ปุ่น พร้อมด้วย นายโอตากะ มาซาโตะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นางสาวไพลิน เทียนสุวรรณ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายบรรจง สุกรีฑา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทน อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นายโกโตดะ มาซาซูมิ ผู้ว่าราชการจังหวัดโทคุชิมะ ประเทศญี่ปุ่น นายวัชรุน จุ้ยจำลอง นางดวงดาว ขาวเจริญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม คณะผู้บริหารจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทั้งสองประเทศ ผู้ประกอบการ และสื่อมวลชน ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ห้อง Ballroom 1 ชั้น 5 โรงแรม S31 กรุงเทพฯ นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เร่งขับเคลื่อนนโยบาย “ปฏิรูปอุตสาหกรรม” มุ่งเซฟผู้ประกอบการไทยให้อยู่รอด และแข่งขันได้อย่างเท่าเทียม พร้อมสร้างอุตสาหกรรมเศรษฐกิจใหม่ เพื่อเชื่อมโยงเศรษฐกิจโลก ผ่านการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่าง กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) และจังหวัดโทคุชิมะ ประเทศญี่ปุ่น ผลักดันอุตสาหกรรมยุคใหม่ อีกทั้ง ยังได้จัดกิจกรรมเจรจาจับคู่ธุรกิจระหว่างภาคอุตสาหกรรมไทย–ญี่ปุ่น เพื่อยกระดับผู้ประกอบการไทยให้เติบโตได้ในตลาดสากล ผ่านการต่อยอดธุรกิจ และสร้างเครือข่ายและพันธมิตรทางการค้า คาดว่าจะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้กว่า 1,000 ล้านบาท นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ตามนโยบายในการ “ปฏิรูปอุตสาหกรรม” การสร้างความเท่าเทียมในการแข่งขันของ SME ไทย สร้างอุตสาหกรรมใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดย “Save อุตสาหกรรมไทย” เพื่อรองรับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ ซึ่งมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ โดยได้มอบหมายให้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) เร่งหาช่องทางขยายความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยเติบโตต่อไปได้ในตลาดสากลอย่างมั่นคง เพื่อเชื่อมโยงเศรษฐกิจไทยสู่เศรษฐกิจโลก ด้าน นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) มุ่งสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันในระดับสากล ควบคู่ไปกับการสร้างความเท่าเทียม สร้างรายได้ และสร้างโอกาสทางธุรกิจ เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยมีความพร้อมเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานโลก โดยพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ ระหว่าง “ดีพร้อม” และ “จังหวัดโทคุชิมะ” ที่จัดขึ้นในวันนี้ นับเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จด้านความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยเฉพาะกับประเทศญี่ปุ่น ที่เริ่มมีความร่วมมือตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 ทำให้เกิดการเชื่อมโยงเครือข่ายในภาคอุตสาหกรรม รวมไปถึงการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่ช่วยสร้างรายได้ให้กับประเทศไทย และในวันนี้ ดีพร้อมได้มีความร่วมมือและเชื่อมโยงธุรกิจกับจังหวัดโทคุชิมะที่เป็นแหล่งพัฒนาเทคโนโลยีด้านเครื่องจักร เทคโนโลยีการเกษตร และเกษตรแปรรูป ซึ่งสอดรับกับนโยบายการปฏิรูปอุตสาหกรรม เกิดการเปลี่ยนผ่านจากอุตสาหกรรมเดิมสู่อุตสาหกรรมใหม่ อาทิ เกษตรอุตสาหกรรม เครื่องมือแพทย์ อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ อาหารแห่งอนาคต ที่ล้วนเพิ่มมูลค่าให้เศรษฐกิจไทยได้ ซึ่งคาดว่าจากพิธีลงนามฯ ดังกล่าว จะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้กว่า 1,000 ล้านบาท ด้านนายโกโตดะ มาซาซูมิ ผู้ว่าราชการจังหวัดโทคุชิมะ กล่าวเสริมว่า จังหวัดโทคุชิมะตั้งอยู่ในภูมิภาคชิโกกุ ซึ่งเป็น 1 ใน 4 เกาะ ที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศญี่ปุ่น ถือเป็นเกาะที่มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์มาก ทำให้จังหวัดโทคุชิมะ มีความโดดเด่นในอุตสาหกรรมเกษตร ประมง และอาหารแปรรูป ตลอดจนอุตสาหกรรมเครื่องจักร ยานยนต์ และแบตเตอรี่ ซึ่งในวันนี้ ได้นำผู้ประกอบการรายใหญ่ของจังหวัดทั้งในอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป ยานยนต์ และเครื่องจักร หลายรายมาร่วมในกิจกรรมเจรจาจับคู่ธุรกิจเพื่อพัฒนาภาคอุตสาหกรรมไทย–ญี่ปุ่น โดยหวังว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มแก่สินค้าและสร้างโอกาสทางธุรกิจร่วมกัน ตามที่ทั้งสองหน่วยงานมีความตั้งใจจะขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมยุคใหม่ และทำให้เศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่นได้เติบโตควบคู่ไปด้วยกันได้อย่างสมดุล มั่นคง และยั่งยืน นายโกโตดะ กล่าวทิ้งท้าย
01 พ.ย. 2567
"ดีพร้อม" ปั้นทีม Agent ดีพร้อม Upskill / Reskill เสริมทักษะเติมทุนมนุษย์ในสถานประกอบการ SMEs ปั้นนักส่งเสริมมาตรฐานองค์กรผลิตภาพ สร้างความเสมอภาคให้ SMEs ตามที่ รมต.เอกนัฏ สั่งเซฟอุตสาหกรรม
กรุงเทพฯ 29 ตุลาคม 2567 - นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานเปิด “การส่งเสริมมาตรฐานองค์กรแห่งผลิตภาพ สร้างความสุขในสถานประกอบการให้ดีพร้อม (DIPROM)” ภายใต้การส่งเสริมสุขภาวะองค์กรในวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมตามแนวทางมาตรฐานองค์กรแห่งความสุข (SMEs Happy and Productive Workplace) โดยมี นายวัชรุน จุ้ยจำลอง รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมกล่าวรายงาน พร้อมด้วยคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ดีพร้อม เข้าร่วม ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 3 อาคารกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (DIPROM Headquarter) และผ่านระบบออนไลน์ Zoom Meeting ตามนโยบาย "ปฏิรูปอุตสาหกรรม" ของนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เซฟอุตสาหกรรมไทย โดย ดีพร้อม ได้บูรณาการกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในการส่งเสริมมาตรฐานองค์กรแห่งผลิตภาพ สร้างความสุขในสถานประกอบการให้ดีพร้อม (DIPROM) ซึ่งขณะนี้ดำเนินการมาจนถึงระยะที่ 4 ซึ่งมีระยะเวลาดำเนินการระหว่าง เดือนสิงหาคม 2566 ถึงเดือนสิงหาคม 2569 งบประมาณสนับสนุนจาก สสส. จำนวน 16.4 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมให้ผู้บริหารของสถานประกอบการมีความตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาเพิ่มผลิตภาพในองค์กร โดยเน้นการส่งเสริมคุณภาพชีวิตบุคลากรในองค์กรด้วยแนวคิดองค์กรสุขภาวะ (Happy Workplace) และเพื่อผลักดันให้มาตรฐานองค์กรแห่งผลิตภาพถูกนำไปใช้ในงานส่งเสริมพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ นอกจากนี้ รปอ.รก.อสอ. ณัฏฐิญา ยังมีความยินดี และเชื่อมั่นในหน่วยงานของดีพร้อมว่ามีบุคลากรที่มีความพร้อมในการเรียนรู้ Upskill / Reskill เสริมทักษะเติมทุนมนุษย์ในสถานประกอบการ SMEs สามารถประเมิน และรับรองสถานประกอบการสู่การรับรองมาตรฐานองค์กรผลิตภาพได้ พร้อมเน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่ดีพร้อมมีความตระหนักในประโยชน์ของการนำแนวทางการดำเนินงานให้เป็นองค์กรผลิตภาพสร้างความเสมอภาคให้ SMEs และต่อยอดสู่ระดับนโยบายของดีพร้อม เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการพัฒนาคุณภาพชีวิต สุขภาพ และความสุขของคนทำงานในสถานประกอบการอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ทั้งนี้ รูปแบบการฝึกอบรมเป็นการบรรยายและ Workshop ผ่านระบบออนไลน์ Zoom Meeting โดยได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร.อธิวัฒน์ เจี่ยวิวรรธน์กุล รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล โดยจัดขึ้นระหว่างวันที่ 29 – 30 ตุลาคม 2567 และมีเจ้าหน้าที่ดีพร้อมจากทั้งในหน่วยงานส่วนกลางและส่วนภูมิภาคเข้าร่วมกว่า 200 คน
01 พ.ย. 2567
"ซอฟต์พาวเวอร์อย่างไร ให้ดีพร้อม" รับโจทย์ "รมต.เอกนัฏ" ตีแผ่แผนบูรณาการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ด้านแฟชั่นและอาหารไทย ปั้นกระแส เผยแพร่ โน้มน้าว
กรุงเทพฯ 29 ตุลาคม 2567 – นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทน อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานในการประชุมชี้แจงแนวทางการดำเนินงานโครงการ Soft Power ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ร่วมด้วย นายวัชรุน จุ้ยจำลอง นางดวงดาว ขาวเจริญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม คณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ดีพร้อม (DIPROM) เข้าร่วม ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 6 อาคารกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (DIPROM Headquarter) และในรูปแบบออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชั่น Zoom Meeting การประชุมดังกล่าว จัดขึ้นเพื่อกำหนดแนวทางการดำเนินโครงการส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์สาขาอาหาร และสาขาแฟชั่น เป็นไปในทิศทางเดียวกันอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลสอดคล้องกับนโยบายของ นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในการพัฒนาเศรษฐกิจเชิงรุก "ปฏิรูปอุตสาหกรรม" เซฟพี่น้องอุตสาหกรรมไทย สร้างความเท่าเทียม สร้างรายได้ สร้างโอกาสในการแข่งขันทางธุรกิจ โดยมีเป้าหมายในการส่งเสริมวัฒนธรรม ธุรกิจ และความเป็นไทยให้ก้าวสู่ Soft Power ในระดับสากล เพื่อการสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้าและบริการของประเทศไทย โดยแนวทางการสร้างซอฟต์พาวเวอร์ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม มุ่ง “สร้างสรรค์ และต่อยอด” ให้เกิดเสน่ห์คุณค่าและเพิ่มมูลค่า แตกต่างด้วยอัตลักษณ์และทุนทางวัฒนธรรม เพิ่มทักษะ เทคนิคเชิงสร้างสรรค์ เพื่อต่อยอดสร้างคุณค่าให้กับสินค้าและบริการ พัฒนาคุณภาพสินค้าและบริการเพื่อเพิ่มมูลค่า “โน้มน้าว” ให้เกิดการยอมรับเปิดใจ สร้างการยอมรับผ่านการรับรองมาตรฐานทั้งไทยและสากล ชักจูงให้เปิดใจผ่านการสร้างการรับรู้และส่งเสริมภาพลักษณ์ให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย กระตุ้นความต้องการผ่านการถ่ายทอดของผู้ที่มีชื่อเสียง และ “เผยแพร่” ให้เป็นที่รู้จักผ่านการจัดอีเวนท์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ งานเทศกาลประจำปีของไทย ตลอดจนสื่อประชาสัมพันธ์อื่น ๆ เช่น Social Media ในปีงบประมาณ 2568 ดีพร้อมได้วางแผนการดำเนินการทั้งสิ้น 7 โครงการ โดยโครงการส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ สาขาอาหาร ประกอบด้วย 1) การยกระดับหนึ่งหมู่บ้านหนึ่งเชฟอาหารไทย 2) การพัฒนาร้านอาหารเชฟชุมชน อาหารถิ่นอาหารไทย 3) การยกระดับศูนย์นวัตกรรมอาหารชุมชน 4) การส่งเสริมการใช้นวัตกรรมเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มไทยสู่ตลาดโลกอย่างยั่งยืน ส่วนโครงการส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ สาขาแฟชั่น ประกอบด้วย 1) การพัฒนาและเชื่อมโยงเครือข่ายบุคลากรอุตสาหกรรมแฟชั่น 2) การส่งเสริมภาพลักษณ์สินค้าแฟชั่นจากทุนทางวัฒนธรรมไทยสู่สากล และ 3) การเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้แฟชั่นและหัตถกรรมสิ่งทอระหว่างประเทศ
01 พ.ย. 2567
"เอกนัฏ" ลุยตรวจพื้นที่อยุธยา ลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรม ติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหา ลั่นเอาผิดผู้ลักลอบและเพิ่มโทษทางกฎหมายขั้นเด็ดขาด!
จังหวัดพระนครศรีอยุธยา : 25 ตุลาคม 2567 นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วย นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นางสาวฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ หัวหน้าคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม นายเอกนิติ รมยานนท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทน อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นายวัชระ กระแสร์ฉัตร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายวัชรุน จุ้ยจำลอง รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นายสุนทร แก้วสว่าง รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม นางสาวศิรกาญจน์ เหลืองสกุล ผู้อำนวยการกองบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม กรมโรงงานอุตสาหกรรม นายธีระ แก้วพิมล อุตสาหกรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ลงพื้นที่ตรวจราชการ อำเภอภาชีและอำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อติดตามการแก้ไขปัญหาการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมใน 2 พื้นที่ คือ 1) โกดังเก็บของเสียและวัตถุอันตราย อำเภอภาชี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พบการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมประมาณ 4,000 ตัน ถูกเททิ้งอยู่โดยรอบอาคารโกดังเก็บของเสียอันตรายจำนวน 5 โกดัง และมีการลอบวางเพลิงเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2567 ทำให้เกิดปัญหาการแพร่กระจายของมลพิษ โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้ร่วมกับจังหวัดพระนครศรีอยุธยาจัดทำคันดินป้องกันการรั่วซึมและการชะล้างสารเคมีในช่วงฤดูฝน และได้ว่าจ้างบริษัทผู้รับกำจัดเข้าทำการบำบัดกำจัดกากของเสียและสารอันตรายในระยะเร่งด่วน ด้วยงบประมาณ 6.9 ล้านบาท โดยได้เริ่มเข้าดำเนินการตั้งแต่วันที่ 28 สิงหาคม 2567 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้ชาวบ้านในเบื้องต้น 2) บริษัท เอกอุทัย จำกัด อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พบการเททิ้งของเสียบริเวณหน้าพื้นที่โรงงาน มีร่องรอยการเททิ้งของเหลวที่เป็นวัตถุอันตรายที่มีสภาพเป็นกรดเข้มข้นเต็มพื้นที่บริเวณโรงงาน ซึ่งปัจจุบันกระทรวงอุตสาหกรรมได้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน พร้อมดำเนินคดี และสั่งการให้บริษัทฯ นำกากของเสียและสารอันตรายไปกำจัดและบำบัดให้ถูกต้อง อย่างไรก็ตาม เพื่อป้องกันปัญหาและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับชาวบ้าน จึงได้จัดทำคันดินป้องกันการรั่วซึมและการชะล้างสารเคมีในช่วงฤดูฝน และได้ว่าจ้างบริษัทผู้รับกำจัดเข้าทำการบำบัดกำจัดกากของเสียและสารอันตรายในระยะเร่งด่วน ด้วยงบประมาณ 4 ล้านบาท โดยได้เริ่มเข้าดำเนินการตั้งแต่วันที่ 13 กันยายน 2567 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้ชาวบ้านในเบื้องต้น “กระทรวงอุตสาหกรรมมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมทั้งระบบ โดยการปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องให้มีการป้องกันและแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็ว รัดกุม และครอบคลุมถึงการบรรเทาเยียวผู้ที่ได้รับผลกระทบตลอดจนการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมในระยะยาว ซึ่งปัจจุบันกำลังเร่งดำเนินการยกร่าง กฎหมายเพื่อการจัดการกากอุตสาหกรรม ขยะอิเล็กทรอนิกส์ และการจัดตั้งกองทุนเพื่อการปฏิรูปอุตสาหกรรม นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมจะทำการตรวจสอบกำกับดูแล เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาลักลอบทิ้งกากของเสียจากภาคอุตสาหกรรมเชิงรุกด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล โดยการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ตรวจกำกับ สั่งการ เพิกถอนใบอนุญาต และขอยืนยันว่าจะมีการดำเนินการทางกฎหมายกับผู้กระทำความผิดจนถึงที่สุด” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวปิดท้าย
28 ต.ค. 2567
"เอกนัฏ" ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมอยุธยา ย้ำพื้นที่เศรษฐกิจปลอดภัย พร้อมรับมือน้ำหลากเต็มพิกัด
25 ตุลาคม 2567 นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วย นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นางสาวฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ หัวหน้าคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม นายเอกนิติ รมยานนท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทน อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นายวัชรุน จุ้ยจำลอง รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นายสุเมธ ตั้งประเสริฐ กรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย รักษาการผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายวัชระ กระแสร์ฉัตร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายธีระ แก้วพิมล อุตสาหกรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายธนกฤต โพธิ์ทอง ผู้อำนวยการสำนักงานนิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน นายสุโชติ ศิริยานนท์ ผู้อำนวยการสำนักงานนิคมอุตสาหกรรมนครหลวง และ นางสาวกรชวัล สังข์ทอง ผู้อำนวยการสำนักงานนิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า (ไฮเทค) ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เข้าร่วม เพื่อติดตามการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำ มาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยในพื้นที่เพื่อป้องกันผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นโครงสร้างหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและประเทศ “การลงพื้นที่วันนี้เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า ทางนิคมฯ เขตประกอบการฯ สวนอุตสหากรรม และโรงงานต่าง ๆ มีการเตรียมความพร้อมที่ดีและเพียงพอต่อการรับมือกับสถานการณ์อุทกภัยที่มีแนวโน้มว่าจะค่อนข้างรุนแรงกว่าปีก่อน แม้ว่าขณะนี้พื้นที่โดยรอบของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จะได้รับผลกระทบจากอุทกภัยบ้างแล้ว แต่พื้นที่เศรษฐกิจของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาที่มีนิคมอุตสาหกรรม เขตประกอบการอุตสาหกรรม สวนอุตสาหรรม ตั้งอยู่ยังไม่ได้รับผลกระทบ และขอให้เชื่อมั่นว่าเราได้เตรียมการรับมืออย่างเต็มกำลัง มีมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย และได้เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำหลากอย่างเต็มประสิทธิภาพ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ประกอบการและประชาชน ด้วย 8 มาตรการหลัก ได้แก่ 1.จัดการระบบระบายน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ 2.เสริมคันกั้นน้ำ 3.ระบบสูบน้ำพร้อมใช้ 4.อุปกรณ์ครบพร้อมช่วยเหลือ 5.ติดตามสถานการณ์ 24 ชั่วโมง 6.เฝ้าระวังประเมินสถานการณ์ต่อเนื่อง 7.ซ้อมแผนรับมือเป็นประจำ และ 8.สื่อสารแจ้งเตือนผ่านทุกช่องทาง“ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าว
28 ต.ค. 2567
"ดีพร้อม" เปิดบ้านต้อนรับหน่วยงานพันธมิตร พัฒนาเครือข่ายโลจิสติกส์อัจฉริยะและโซ่อุปทาน สร้างอุตสาหกรรมเศรษฐกิจใหม่ ตามนโยบาย "รมต.เอกนัฏ"
กรุงเทพฯ 24 ตุลาคม 2567 - นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทน อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานต้อนรับหน่วยงานพันธมิตรเครือข่ายด้านโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน ร่วมด้วย 1) ดร.ปิยะนุช สัมฤทธิ์ นายกสมาคมขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ไทย 2) ดร. ศรีสลา ภวมัยกุล รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย 3) นายธรรศ ทังสมบัติ นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป 4) รศ.รังสรรค์ เลิศในสัตย์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น 5) นายดำริ นามพญา กรรมการผู้จัดการบริษัท ดิจิวิว แอดเวอร์ไทซิ่ง กรุ๊ป จำกัด 6) นายศิริชัย เบ็ญจพรเลิศ ทายาทรุ่นที่ 3 ของบริษัท โง้วเจงง้วน จำกัด พร้อมด้วย นายมนตรี วงค์มั่นกิจการ ผู้อำนวยการกองพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีอุตสาหกรรม คณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ดีพร้อม (DIPROM) ณ ห้องประชุม 3 ชั้น 3 อาคารกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (DIPROM Headquarter) การประชุมดังกล่าว เป็นการหารือการดำเนินงานของดีพร้อม ตามนโยบาย “การปฏิรูปอุตสาหกรรม สู่เศรษฐกิจยุคใหม่“ ของ นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในการ “สร้างอุตสาหกรรมเศรษฐกิจใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” โดยการปฏิรูปอุตสาหกรรม เพื่อรองรับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ ผ่านการบูรณาการกับหน่วยงานพันธมิตรเครือข่ายโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน ประกอบด้วย สมาคมขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ไทย ผู้ให้บริการการขนส่งสินค้าทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย ผู้ให้บริการ/ส่งเสริมให้มีบริการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศทางเรือ สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป ส่งเสริมและสนับสนุนการประกอบวิสาหกิจอันเกี่ยวกับผลิตอาหารและอาหารสำเร็จรูป สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น หน่วยงานการศึกษาที่มีการต่อยอดการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมประยุกต์ใช้กับการพัฒนาโลจิสติกส์และโซ่อุปทานในภาคอุตสาหกรรม บริษัท ดิจิวิว แอดเวอร์ไทซิ่ง กรุ๊ป จำกัด ผู้จัดงาน Thailand Industrial Fair งานแสดงสินค้าและเทคโนโลยี เครื่องจักร และบริการโลจิสติกส์ครบวงจร และบริษัท โง้วเจงง้วน จำกัด ผู้ผลิตน้ำเต้าหู้แบรนด์ ‘ฟองฟอง’ น้ำเต้าหู้ผสมฟองเต้าหู้เจ้าแรกของไทยที่ได้นำระบบโลจิกติกส์และโซ่อุปทานมาประยุกต์ใช้กับธุรกิจ ซึ่งพันธมิตรเหล่านี้จะสามารถช่วยจะขับเคลื่อนสร้างเครือข่าย และความร่วมมือต่าง ๆ ที่จะส่งเสริมและสนับสนุนการยกระดับคุณภาพมาตรฐานในการประกอบการขนส่งสินค้า โลจิสติกส์และโซ่อุปทาน โดยการนำนวัตกรรม และเทคโนโลยีให้เข้าถึงผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและความยั่งยืน ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวเป็นการนำพันธมิตรเครือข่ายโลจิสติกส์และโซ่อุปทานมายกระดับภาคอุตสาหกรรมของประเทศในสาขาต่าง ๆ อาทิ อาหารและเครื่องดื่ม เกษตรแปรรูป ที่เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ของไทย ซึ่งจะช่วยยกระดับ เพื่อเตรียมความพร้อมของผู้ประกอบการ SMEs ที่ต้องการเชื่อมโยงผู้ผลิตวัตถุดิบภายในประเทศกับโซ่อุปทานการผลิตของโลกได้ รวมถึงการสร้างผู้ประกอบการด้านโลจิสติกส์อัจฉริยะ เพื่อส่งเสริม และพัฒนาศักยภาพให้สถานประกอบการมีการจัดการให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น
28 ต.ค. 2567
ปลัดฯ ณัฐพล เป็นประธานในพิธีบำเพ็ญกุศลถวายพระราชกุศล เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคต ร.5 ณ วัดเบญจมบพิตร
กรุงเทพ 23 ตุลาคม 2567 - ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานในพิธีบำเพ็ญกุศลถวายพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วย นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทน อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นายศุภกิจ บุญศิริ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายสุรพล ชามาตย์ ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมด้านกำกับตรวจสอบการประกอบการ คณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม นายมานัส ทารัตน์ใจ ที่ปรึกษากรมการศาสนา และประชาชนทั่วไปเข้าร่วม น้อมลำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 ณ พระอุโบสถ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร กิจกรรมในงานบำเพ็ญกุศลนี้ จัดขึ้นเพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระปิยมหาราชเจ้า โดยมีการตักบาตรและทำบุญอุทิศถวายแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของประเพณีที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในวันที่ 23 ตุลาคม อันเป็นวันคล้ายวันสวรรคตของพระองค์ ภายในงาน มีการประกอบศาสนกิจต่าง ๆ อาทิ การสวดมนต์ การถวายจตุปัจจัยไทยธรรม และการเทศน์ธรรมเทศนา โดยมีศิษยานุศิษย์ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม มูลนิธิเบญจมบพิตร และสมาคมเบญจมบพิตร เข้าร่วมอย่างพร้อมเพรียงกัน พิธีดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความเคารพรักและความกตัญญูกตเวทีต่อพระมหากษัตริย์ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ
24 ต.ค. 2567
"รมต.เอกนัฏ" สั่งการ ก.อุตฯ รุดลงพื้นที่ภาคเหนือกางแผนความช่วยเหลือ เยียวยา ฟื้นฟู วางมาตรการทางการเงินให้แก่โรงงานและประชาชนที่ได้รับกระทบจากเหตุการณ์อุทกภัย
จ.เชียงใหม่-ลำปาง 21-22 ตุลาคม 2567 - ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ตรวจเยี่ยมโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบอุตสาหกรรมสร้างสรรค์เพื่อชุมชน (MIND COMM) พร้อมอาคารศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และศูนย์วิจัยและเตือนภัยมลพิษโรงงานภาคเหนือ กรมโรงงานอุตสาหกรรม ร่วมด้วย นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทน อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นางดวงดาว ขาวเจริญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นายเตมีย์ พันธุ์วงค์ราช ผู้อำนวยการกองตรวจราชการ นายสุรพล ปลื้มใจ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 นายมนตรี วงค์มั่นกิจการ ผู้อำนวยการกองพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีอุตสาหกรรม นางพัชรี สองสีโย อุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ นายประสิทธิ์ ศรีพรหม อุตสาหกรรมจังหวัดลำปาง นายเจษฎา ถาวรศักดิ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาวัสดุอุตสาหกรรม นายกิตติโชติ ศุภกำเนิด ผู้อำนวยการกองพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม นางสาวธนิตา ทองเงา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและเตือนภัยมลพิษโรงงานภาคเหนือ นายอนุพงษ์ แสงอรุณทอง ผู้อำนวยการอาวุโสภาค 1 ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย นายชัยยุทธ สุขเสริม ผู้อำนวยการสำนักงานอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่เขต 3 คณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่กระทรวงอุตสาหกรรม จากสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่เมื่อช่วงต้นเดือนตุลาคม 2567 ผ่านมา ได้สร้างความเสียหายอย่างหนักให้กับหน่วยงานราชการ ภาคเอกชน และประชาชนเป็นอย่างมาก กระทรวงอุตสาหกรรม โดย นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้กำชับให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) จัดทำแผนเยียวยา บรรเทาความเดือดร้อนผู้ประกอบการและประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์อุทกภัย โดยในเบื้องต้นมีข้อมูลความเสียหายของโรงงานอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ ประกอบด้วย โรงงานที่ได้รับกระทบ จำนวน 35 โรงงาน ส่งผลกระทบต่อมูลค่าเศรษฐกิจกว่า 170 ล้านบาท ซึ่ง อก. โดย สอจ.เชียงใหม่ ร่วมกับ ศภ.1 กสอ. ได้มีมาตรการช่วยเหลือ ดังนี้ 1) มาตรการส่งธารน้ำใจไปยังโรงงานและผู้ประสบภัยที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์อุทกภัย ประกอบด้วย การมอบถุงยังชีพ กล่องส้วมกระดาษ น้ำดื่ม ข้าวสาร กล่องใส่อาหารพลาสติก และชุดเครื่องปรุง พร้อมมอบเงินช่วยเหลือค่าใช้จ่ายทำความสะอาด และเลี้ยงอาหารกลางวัน และ 2) มาตรการเยียวยาและการฟื้นฟูได้ร่วมกันทำความสะอาดสถานประกอบการ และประสานงานขอรถขนน้ำ/ฉีดน้ำแรงดันสูง ทั้งจากผู้ประกอบการที่มีศักยภาพและสำนักงานเทศบาลจากจังหวัดข้างเคียง เพื่อเข้าช่วยเหลือหน่วยงานราชการและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากเหตุน้ำท่วมหลังน้ำลดเกิดเป็นตะกอนดิน และ 3) มาตรการทางการเงิน (1) กรณีเป็นลูกค้าที่ได้รับผลกระโดยตรง - พักชำระหนี้ ต้นและดอกเบี้ย 12 เดือน เงินกู้ฉุกเฉิน รายละไม่เกิน 200,000 บาท เพื่อฟื้นฟูกิจการ ไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน เงินกู้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (soft loan) รายละ 2,000,000 บาท และเงินให้สินเชื่อ Green Productivity เพื่อซื้อเครื่องจักร ดอกเบี้ยต่ำวงเงินรายละ 10 ล้านบาท (2) กรณีเป็นลูกค้าได้รับผลกระทบทางอ้อม - พักชำระหนี้ ต้นและดอกเบี้ย 12 เดือน และ (3) กรณีลูกค้าสินเชื่อกองทุนพัฒนาตามแนวประชารัฐ - พักชำระหนี้ เงินต้น 3 เดือน และสามารถใช้วงเงินสินเชื่อของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ทั้งนี้ ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และศูนย์วิจัยและเตือนภัยมลพิษโรงงานภาคเหนือ กรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยในครั้งนี้ โดยสร้างความเสียหายแก่ห้องปฏิบัติงานกลุ่มพัฒนาการส่งเสริมอุตสาหกรรมชุมชน ห้องเงินทุนหมุนเวียน ห้อง DIPROM BSC ห้องแสดงตัวอย่างผลิตภัณฑ์ ห้อง DIPROM GMP ROOM ห้องศูนย์เรียนรู้กาแฟภาคเหนือ ห้องศูนย์เรียนรู้วิถีไผ่ ห้องหมวดยานยนต์ มอเตอร์ปั๊มน้ำ ระบบไฟฟ้า และครุภัณฑ์สำนักงาน โดยแผ่นลามิเนตหลุดออกจากพื้นเดิมทั้งหมด ผนังห้องเป็นคราบน้ำ โคลนและสีหลุดกร่อนออกจากตัวผนัง ทั้งโต๊ะเก้าอี้ ถูกน้ำ ท่วมชำรุดไม่สามารถใช้งานได้ ซึ่งเบื้องต้นได้รับความช่วยเหลือและสนับสนุนจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน อาทิ กระเบื้องปูพื้น หินคลุกถมพื้นที่ ซ่อมแซมระบบไฟฟ้าภายในและภายนอกอาคาร รถฉีดน้ำแรงดันสูงสำหรับทำความสะอาดทั้งภายในและภายนอกอาคารทั้งหมด ซ่อมบำรุงเครื่องมือ และอุปกรณ์เครื่องจักรภายในห้อง DIPROM ITC หลังจากนั้น ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ได้นำคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรมลงพื้นที่จังหวัดลำปาง ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาวัสดุอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เพื่อเตรียมการป้องกันเหตุอุทกภัยจากวัสดุป้องกันภัยพิบัติทางธรรมชาติ (Natural Disaster Protection Meterials) เช่น วัสดุกำแพงป้องกันน้ำท่วม โดยวัสดุผลิตจากเศษขยะพลาสติกที่เหลือทิ้ง นำมาบดขึ้นรูปใหม่ ซึ่งมีคุณสมบัติในการกั้นน้ำ มีความแข็งแรงทนทาน น้ำหนักเบา ไม่เป็นสนิม อายุใช้งานมากกว่า 10 ปี ลดภาระการใช้กระสอบทราย รับน้ำหนักได้ถึง 225 กิโลกรัม จัดเก็บรักษาได้ง่ายกว่ากระสอบทรายทั่วไป
24 ต.ค. 2567
"ดีพร้อม" ร่วมประชุม กมอ. เร่งพิจารณาร่างหลักเกณฑ์และเงื่อนไขมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม
กรุงเทพฯ 22 ตุลาคม 2567 - นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม มอบหมายให้ นายวัชรุน จุ้ยจำลอง รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เป็นผู้แทนเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.) ครั้งที่ 741-10/2567 พร้อมด้วย นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ผู้ทรงคุณวุฒิ และคณะกรรมการฯ เข้าร่วม โดยมี นายบรรจง สุกรีฑา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานการประชุม ณ ห้องประชุม 230 ชั้น 2 อาคารสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) การประชุมในครั้งนี้ เพื่อรายงานสรุปผลการดำเนินงานในภาพรวมของ กมอ. และการดำเนินการแต่งตั้งผู้ตรวจสอบผลิตภัณฑ์เพิ่มเติมในสาขาต่าง ๆ และรายงานผลการทำผลิตภัณฑ์บางประเภทให้สิ้นสภาพ พร้อมทั้งพิจารณาร่างหลักเกณฑ์และเงื่อนไขมาตรฐาน สมรรถนะของผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเพิ่มเติมทั้งสิ้น 79 มาตรฐาน ให้เป็นไปตามมาตรฐาน มอก. ตาม พ.ร.บ. มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 มาตรา 15 เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยผู้บริโภค และอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการในการดำเนินธุรกิจ พร้อมกันนี้ ได้ให้ความเห็นชอบรายชื่อมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่จะจัดทำในปี 2568 เพิ่มเติมอีกจำนวน 512 มาตรฐาน
24 ต.ค. 2567
"เอกนัฏ" ล่องใต้ ลงพื้นที่สุราษฎร์ฯ! มอบนโยบาย “ปฏิรูปอุตสาหกรรม” สั่งการ “ดีพร้อม” ดึงลงทุนต่างชาติ ขับเคลื่อน SMEs ภาคใต้สู่ความยั่งยืนด้วย BCG
จังหวัดสุราษฎร์ธานี 21 ตุลาคม 2567 - นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม หลังลงพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อมอบนโยบายและรับฟังข้อเสนอแนะจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนในพื้นที่ 7 จังหวัด (ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี พังงา ภูเก็ต กระบี่ และนครศรีธรรมราช) ณ ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 10 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) พร้อมรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานภาคเอกชน และมอบนโยบาย “ปฏิรูปอุตสาหกรรม” ส่งเสริมเศรษฐกิจท้องถิ่น เน้นพัฒนาธุรกิจด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลและความยั่งยืน ชี้โอกาสการลงทุนจากความได้เปรียบด้านภูมิรัฐศาสตร์ พร้อมรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชนเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาผังเมืองและมาตรฐานอุตสาหกรรม เพื่อนำไปสู่การสร้างความเข้มแข็งในเศรษฐกิจท้องถิ่นและการพัฒนาผู้ประกอบการสู่เวทีโลก นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ภายหลังการลงพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2567 เพื่อมอบนโยบายและรับฟังข้อเสนอแนะจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ตามนโยบาย “การปฏิรูปอุตสาหกรรม สู่เศรษฐกิจยุคใหม่”เร่งการสร้างความเท่าเทียมในการแข่งขันของ SME ไทย” โดย “Save อุตสาหกรรมไทย” ซึ่งมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ “การสร้างอุตสาหกรรมเศรษฐกิจใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางการลงทุนที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนต่างชาติในช่วงที่โลกกำลังเผชิญกับความผันผวนทางเศรษฐกิจและสงคราม โดยประเทศไทยมีข้อได้เปรียบอย่างมากด้านภูมิรัฐศาสตร์และภูมิอากาศ ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญในการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติในช่วงเวลาที่หลายประเทศต้องเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจและความไม่แน่นอนจากสถานการณ์โลก กระทรวงอุตสาหกรรมได้กำหนดแนวทางชัดเจนในการใช้ข้อได้เปรียบเหล่านี้เพื่อสร้างโอกาสให้กับการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจท้องถิ่น โดยเฉพาะการพัฒนาธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ นายเอกนัฏ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการประชุมดังกล่าวตัวแทนภาคเอกชนได้นำเสนอประเด็นปัญหาของจังหวัดสุราษฎร์ธานี อาทิ ปัญหาผังเมือง การขับเคลื่อน Climate Change แผนจัดการแรงงานที่เข้ามาทำงานและอยู่อาศัยในพื้นที่ รวมถึงกลยุทธ์ที่ชัดเจนในการพัฒนาอุตสาหกรรมที่มีจุดแข็งจากการเกษตรและการท่องเที่ยวได้อย่างมีประสิทธิภาพในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ พร้อมมุ่งเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่สอดคล้องกับการรักษาสิ่งแวดล้อมก็จะเป็นส่วนสำคัญในการสร้างเศรษฐกิจของพื้นที่ การส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการในท้องถิ่น โดยการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนผ่านการส่งเสริมการสร้างเครือข่าย การพัฒนาองค์ความรู้ และการฝึกอบรม เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถปรับตัว พัฒนาธุรกิจ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้อย่าง และแผนการจัดโครงการพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรมดีพร้อม หรือ คพอ.ดีพร้อม ในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ในปี 2568 ซึ่งจะเป็นโอกาสสำคัญในการแสดงพลัง และศักยภาพของผู้ประกอบการท้องถิ่น รวมถึงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และสร้างเครือข่ายความร่วมมือ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของจังหวัดสุราษฎร์ธานีให้เติบโตอย่างเข้มแข็งต่อไป “หนึ่งในนโยบายสำคัญที่กระทรวงอุตสาหกรรมให้ความสำคัญ คือ การปฏิรูปและพัฒนาธุรกิจ SMEs ให้มีความยั่งยืน พร้อมมอบหมายให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในกระบวนการผลิตและการบริหารจัดการ การส่งเสริมการให้ SMEs ของไทยมีความสามารถในการแข่งขันมากขึ้นในระดับสากล ซึ่งเป็นสิ่งที่กระทรวงฯ มุ่งมั่นผลักดันให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ การใช้โมเดล BCG ในภาคอุตสาหกรรมเกษตรเป็นหนึ่งในแนวทางหลักในการยกระดับศักยภาพการผลิตของไทยให้สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล ขณะเดียวกันยังช่วยส่งเสริมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะทำให้ธุรกิจ SMEs ของเราสามารถปรับตัวและเติบโตได้อย่างยั่งยืน" นายเอกนัฏ กล่าว ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมยังได้เสนอจัดตั้ง กองทุนเพื่อสนับสนุนธุรกิจ SMEs ในการปรับตัวเข้าสู่เศรษฐกิจใหม่ โดยเฉพาะในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืนผ่าน โมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy) ซึ่งเน้นการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ การหมุนเวียนวัตถุดิบ และการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โมเดลนี้ประสบความสำเร็จอย่างมากในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล โดยมีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและแปรรูป ซึ่งทำให้อุตสาหกรรมนี้สามารถเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตรและขยายตลาดได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ นอกจากนี้ ยังมีแผนการขยายผลโมเดล BCG สู่ อุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน และพืชเศรษฐกิจอื่น ๆ ที่มีศักยภาพเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของตลาดที่มุ่งเน้นการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและยั่งยืนในระยะยาว ถือเป็นการสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจท้องถิ่นและ SMEs ของไทย เพื่อตอบสนองต่อความท้าทายในยุคปัจจุบันและอนาคต และเพื่อให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมที่เน้นความยั่งยืนและนวัตกรรมอย่างแท้จริง นายเอกนัฏ กล่าวทิ้งท้าย
21 ต.ค. 2567